สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2556 (มกราคม — มีนาคม 2556)(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 15:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผู้ผลิตยาที่มีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนา หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา หรือการจำหน่ายสินค้าในปริมาณมาก แต่ได้มูลค่าเพิ่มต่ำ โดยการเริ่มให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม สินค้าใหม่ที่เข้าสู่ตลาดยังต้องอาศัยระยะเวลาในการยอมรับจากผู้สั่งใช้ ดังนั้น ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในไตรมาสแรกจึงไม่เติบโตนัก

การผลิต

การผลิตยาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 มีปริมาณ 6,537.61 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 13.37 และ 6.31 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหามหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2554 ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถทำการผลิตได้หรือผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการ เมื่อปัญหาดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลงในช่วงต้นปี 2555 ผู้ผลิตจึงเร่งทำการผลิต ส่งผลให้ปริมาณการผลิตขยายตัวมากในช่วงต้นปีก่อน นอกจากนี้ผู้ผลิตที่มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเริ่มให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น (เดิมเน้นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายได้ปริมาณมาก แต่มูลค่าเพิ่มต่ำเป็นหลัก) เพื่อให้บริษัทมีกำไรและสามารถอยู่รอดได้ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงส่วนใหญ่เป็นยารักษาโรคเฉพาะทาง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการยอมรับจากแพทย์ผู้สั่งใช้ยา นอกจากนี้ ยังใช้เวลาในกระบวนการผลิตที่นานขึ้น ทำให้ต้องลดปริมาณการผลิตยาที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำลงด้วย

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 มีปริมาณ 6,009.00 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 4.25 และ 9.35 ตามลำดับ เนื่องจากการเกิดปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ได้สร้างโอกาสให้ผู้ผลิตที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักและมีสินค้าคงคลังเพียงพอ สามารถจำหน่ายสินค้าได้เป็นจำนวนมากในช่วงต้นปีก่อน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เริ่มออกจำหน่าย ยังต้องใช้เวลาในการยอมรับ ซึ่งผู้ผลิตอยู่ระหว่างการสร้างความเข้าใจและการยอมรับในการใช้ให้กับแพทย์ผู้สั่งจ่ายยา ซึ่งคาดว่าจะทำให้ยอดจำหน่ายปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำลดลง ทำให้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าอีกด้วย สำหรับช่องทางการจำหน่ายยา ยังคงเป็นโรงพยาบาล ซึ่งเป็นช่องทางหลัก แต่ผู้ผลิตได้ให้ความสำคัญกับร้านขายมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาสัดส่วนการเติบโตในโรงพยาบาลมีแนวโน้มลดลง เพราะมีการแข่งขันสูง

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 มีมูลค่า 2,002.95 ล้านบาท ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 32.95 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญใน ไตรมาสนี้ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีมูลค่ารวม 1,368.13 ล้านบาท หรือร้อยละ 68.31 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด เนื่องจากผู้ผลิตไม่ต้องสำรองยาเพื่อรับเปลี่ยนสินค้าที่เสียหายจากโรงพยาบาลหรือร้านขายยาที่ประสบอุทกภัยเช่นปีก่อน นอกจากนี้ ตลาดส่งออกยาที่สำคัญของไทย คือ อาเซียน มีการขยายตัวดี โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและเมียนมาร์ มีการเติบโตสูง ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ผลิตไทยได้แสวงหาพันธมิตรทำหน้าที่เป็นตัวแทนการจำหน่าย และร่วมทุนในประเทศดังกล่าว เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 7.73 เนื่องจากผู้สั่งซื้อมีการนำเข้ามากในครึ่งปีหลังของปีก่อน ซึ่งอาจยังมีสินคงคลังเหลืออยู่ จึงชะลอการนำเข้าลง ก่อนจะเพิ่มการสั่งซื้อในไตรมาสถัดไป

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 มีมูลค่า 11,509.50 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 5.29 และ 1.33 ตามลำดับ แม้ภาครัฐจะควบคุมการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการข้าราชการอย่างเข้มงวด แต่โรงพยาบาลเอกชนยังเติบโตดี ทำให้การนำเข้ายาขยายตัว อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้ามีอัตราการขยายตัวไม่สูงเท่าปีก่อน เนื่องจากในปีก่อนประเทศไทยประสบอุทกภัย ส่งผลให้กำลังการผลิตในประเทศหายไปบางส่วน ทำให้การนำเข้าในปีก่อนเติบโตสูง เพื่อทดแทนยาที่ไม่สามารถผลิตได้ในช่วงที่ผู้ผลิตบางรายประสบอุทกภัยยังฟื้นฟูโรงงานไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 5,038.87 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 43.78 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือ ป้องกันโรคทั้งหมด

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 เห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการ ควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยยารักษาโรค เป็น 1 ใน 43 รายการสินค้าและบริการที่ถูกควบคุม

2. คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 เห็นชอบในหลักการงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ภายในกรอบวงเงิน 191,681,734,800 บาท (ประกอบด้วย งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 189,719,546,100 บาท และงบบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 1,962,188,700 บาท) ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสนอ โดยกรอบวงเงินดังกล่าวสูงขึ้นกว่าปีงบประมาณ 2556 ซึ่งมีวงเงินทั้งสิ้น 109,718,581,300 บาท ทำให้อัตราเหมาจ่ายรายหัวปรับเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลทางบวกต่อความต้องการใช้ยาสามัญในประเทศ

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตยาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ผลิตเร่งทำการผลิตหลังปัญหามหาอุทกภัยคลี่คลายลง นอกจากนี้ผู้ผลิตที่มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเริ่มให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น และลดปริมาณการผลิตยาที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำลง สำหรับการจำหน่ายมีปริมาณลดลงเช่นกัน เนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นได้สร้างโอกาสให้ผู้ผลิตที่ไม่ได้รับผลกระทบและมีสินค้าคงคลังเพียงพอ สามารถจำหน่ายสินค้าได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้สินค้าใหม่ที่มูลค่าเพิ่มสูง ยังอยู่ในช่วงเริ่มออกจำหน่าย ซึ่งต้องใช้เวลาในการยอมรับ ส่วนสินค้าเดิมที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะผู้ผลิตลดปริมาณการผลิตลง

ในส่วนมูลค่าการส่งออกยารักษาโรคมีการขยายตัวดี โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและเมียนมาร์ ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ผลิตไทยได้แสวงหาพันธมิตรทำหน้าที่เป็นตัวแทนการจำหน่าย และร่วมทุนในประเทศดังกล่าวเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับมูลค่าการนำเข้ามีการขยายตัวเช่นกัน เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนยังเติบโตดี

แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตและการจำหน่ายอุตสาหกรรมยาในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน คาดว่า อุตสาหกรรมยาจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสินค้าใหม่ที่ออกสู่ตลาด น่าจะได้รับการยอมรับมากขึ้นส่งผลให้ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการส่งออก มีแนวโน้มจะขยายตัวเช่นกัน จากการที่ผู้ผลิตเริ่มให้ความสำคัญกับการส่งออก เนื่องจากเกิดความตระหนักว่าการขยายตลาดให้กว้างขึ้น จะช่วยทำให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุนปรับปรุงสถานที่ผลิตให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้นตามที่ภาครัฐกำหนด สำหรับการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวเช่นกัน เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงใกล้ปลายปีงบประมาณ ซึ่งสถานพยาบาลภาครัฐจะมีการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของทุกปี

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ