สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2556 (มกราคม — มีนาคม 2556)(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 17:23 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 90.32 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเข้าสู่ฤดูกาลหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และหากไม่รวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.57 แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตไม่รวมการผลิตน้ำตาลมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.53 เป็นผลจากการกลับมาผลิตของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์ที่ต้องหยุดผลิตจากปัญหาอุทกภัยเมื่อปีก่อน แต่หากรวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตกลับลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.89 ตามปริมาณการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่ทำให้วัตถุดิบลดลง และการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าซบเซา โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่ยังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะในหลายประเทศ ประกอบกับราคาสินค้าในตลาดโลกผันผวนมาก ส่งผลกับการส่งออกสินค้าอาหารที่มีปริมาณการส่งออกที่ลดลง

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 90.32 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตน้ำตาลในฤดูหีบอ้อย ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับชะลอตัวลง (ตารางที่ 1) แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของ อุตสาหกรรมอาหารลดลงร้อยละ 2.89 เป็นผลจากการที่วัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าซบเซา สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 2.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากระดับราคาไม่จูงใจให้เกษตรกรผลิต และลดลงร้อยละ 1.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงจากผลกระทบภัยแล้ง

กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 14.60 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ต้องมีการพักบ่อเพื่อตัดวงจรโรค ทำให้ผลผลิตมีปริมาณลดลง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.37 เป็นผลจากการผลิตปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้น จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น มีการนำเข้าปลาทูน่ามาสต็อกและผลิตเพิ่มขึ้น

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.60 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.24 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยจากปัญหาไข้หวัดนกในหลายประเทศ และจากการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น ทดแทนจากจีนที่ประสบปัญหาไข้หวัดนกรอบใหม่ และไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรป

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 18.96 และ 8.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลสืบเนื่องจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในประเทศผู้นำเข้า ได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาจากวิกฤตหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป

กลุ่มน้ำตาลทราย ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 325.58 จากการที่อ้อยได้รับผลกระทบภัยแล้ง ทำให้ต้องเลื่อนเวลาส่งเข้าหีบในโรงงาน และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงร้อยละ 6.19 จากคุณภาพอ้อยที่ด้อยลง วัดได้จากค่า CCS ที่ได้ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 1.38 เนื่องจากปริมาณในสต็อกสูง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.60 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบออกสู่ตลาดมาก สำหรับผลิตภัณฑ์นมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการที่โรงงานนมพร้อมดื่มกลับมาผลิตได้หลังเกิดปัญหาอุทกภัยในช่วงต้นปีก่อน แต่ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.05 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าและผลิตภายหลังการปรับโควต้านำเข้านมผงเพิ่มขึ้นช่วงปลายปี นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ การผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 4.45 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการชะลอการเลี้ยงกุ้งจากการเกิดโรคระบาด ทำให้มีความต้องการใช้อาหารกุ้งลดลง และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 2.39 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาในตลาดโลกที่สูงขึ้น เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาภัยแล้งในสหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.69 จากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ จึงเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลที่มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงและเงินเดือน แม้ระดับราคาสินค้าจะได้ปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะในสินค้าปศุสัตว์ ผักผลไม้และผลิตภัณฑ์นมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่เป็นสินค้าชี้วัดการหดตัวของเศรษฐกิจ ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงอุทกภัยในปีก่อน ยังคงมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.56 และ 6.49 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทำให้ภาพรวมปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหารช่วงไตรมาสที่ 1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่การจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศปรับตัวลดลงร้อยละ 9.81 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการใช้ในประเทศที่ลดลง และอาหารสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงกุ้งที่ลดลง มีการจำหน่ายลดลงร้อยละ 8.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทำให้การจำหน่ายในประเทศปรับตัวลดลงร้อยละ 2.55 จากช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2556 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 202,797.97 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.07 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากการส่งออกน้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์จากไก่ อาหารทะเลกระป๋อง แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 4.43 เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักบางแห่งแม้ว่าจะมีสัญญาณที่ฟื้นตัว แต่ก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศในสหภาพยุโรปที่ยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มประมง มีมูลค่าการส่งออก 52,490.43 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 22.62 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการลดลงของปริมาณในเกือบทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลแปรรูปและแช่เย็นแช่แข็ง และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกลดลงร้อยละ 6.30 เนื่องจากคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวลง เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือกุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การบริโภคสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าทดแทน นอกจากนี้ปริมาณผลผลิตกุ้งในช่วงต้นปี มีปริมาณลดลงจากเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 21,923.31 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.18 จากไตรมาสก่อน แต่ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.96 จากการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งที่ส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกลดลงร้อยละ 12.78 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดีการส่งออกในรูปผลไม้กระป๋องและแปรรูปสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นในหลายสินค้า เช่น ลิ้นจี่ และลำไย

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 19,938.88 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.93 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 4.61 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากไก่ขยายตัวทั้งไก่สดแช่เย็นและแช่แข็ง และไก่แปรรูปจากการนำเข้าเพิ่มขึ้นของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เนื่องจากการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของสหภาพยุโรป

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 59,154.84 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.55 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกข้าวปรับตัวลดลงร้อยละ 18.49 ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการส่งออกไปประเทศจีนได้เพิ่มขึ้น หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.32 เป็นผลมาจากการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.00 และ 24.82 เนื่องจากประเทศจีนยังคงมีความต้องการใข้เพื่อผลิตเหล้าและเอทานอลเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 22,708.04 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.39 จากไตรมาสก่อน ที่มาจากการส่งออกน้ำตาลในช่วงฤดูกาลเพิ่มขึ้นแต่เนื่องจากราคาในตลาดโลกชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับการที่ประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดีย และบราซิล กลับมาส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าส่งออกของไทยลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.62

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 16,562.47 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.55 และ 3.10 ตามลำดับ โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทสิ่งปรุงรสอาหาร หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม และซุปและอาหารปรุงแต่ง

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2556 การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่ารวม 90,175.22 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.38 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมัน ลดลงร้อยละ 70.20 เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.22 แม้ว่าการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น กากพืชน้ำมัน และเมล็ดพืชน้ำมันลดลง จากราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มีการนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.11 เนื่องจากยังมีความต้องการปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2556 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ ในลักษณะการรับจำนำผลผลิต และการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและ ระดับราคาจำหน่ายลดลง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านปัจจัยการผลิต ได้แก่

1. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 เห็นชอบในหลักการการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากลาวและกัมพูชา ผ่าน องค์การคลังสินค้า ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อกำหนดกรอบการนำเข้า ช่วงเวลานำเข้าและให้องค์การคลังสินค้าเป็นผู้บริหารการนำเข้า ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการนำเข้าตามช่วงเวลาที่กำหนด ประกอบกับยังเป็นการส่งเสริมการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและกัมพูชา อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามการนำเข้าและกำหนดมาตรการเข้มงวดต่อการลักลอบ การนำเข้า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกรในประเทศในช่วงเวลาผลผลิตออกสู่ตลาด

2. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 รับทราบการรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มและราคาผลปาล์มตกต่ำ ปี 2555-2556 ตามมาตรการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบของกระทรวงพาณิชย์ โดยการให้โรงสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อผลปาล์มในคุณภาพและราคาที่กำหนด ผลิตเป็นน้ำมันปาล์มดิบส่งเข้าคลังเพื่อรอส่งเข้าโรงกลั่นน้ำมันบริสุทธิ์ โดยให้ องค์การคลังสินค้าดำเนินการ ทั้งนี้ได้รับการอนุมัติเงินจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรวม 292.596 ล้านบาท

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวม อยู่ในช่วงทรงตัวในระดับเดียวกันจากไตรมาสก่อน หากไม่นับรวมการผลิตน้ำตาลที่เป็นฤดูการหีบอ้อยที่ส่งผลให้การผลิตขยายตัวจากไตรมาสก่อน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่รวมการผลิตน้ำตาลแล้ว พบว่า การผลิตในภาพรวมหดตัวลง ตามปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับตัวชะลอตัวตามฤดูกาลหลังเทศกาล ส่วนการส่งออกปรับตัวลดลงจากผลกระทบระดับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าตามค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่อัดเงิน เข้าระบบส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงและบางส่วนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักซบเซาจากภาวะหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นนอกจากนี้สต็อกสินค้าในตลาดโลกที่สำคัญ คือ น้ำตาลทราย แม้ว่าสต็อกที่คาดการณ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผลจากที่ประเทศอินเดีย และบราซิล มีผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้น และคาดว่าจะส่งออกน้ำตาลได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ชะลอตัวลง ส่วนการผลิตของไทยคาดว่าจะได้รับกระทบจากภัยแล้งทำให้คุณภาพอ้อยเข้าหีบแย่ลง ส่งผลต่อระดับน้ำตาลทรายที่จะผลิตได้ลดลง ในส่วนสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ สินค้าไก่แปรรูป ปริมาณความต้องการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากกรณีไข้หวัดนกของสหภาพยุโรป ส่งผลต่อการส่งออกไก่ของไทยเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้ามันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลจากการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง คือกลุ่มพืชน้ำมัน เนื่องจากสต็อกมีปริมาณสูงมาก ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีความต้องการลดลงทำให้ราคาลดลงเป็นอย่างมากจนทำให้ผู้ผลิตสำคัญ เช่น มาเลเซีย ต้องปรับอัตราภาษีส่งออกในลักษณะเดียวกับอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้ไทยส่งออกได้ยากขึ้นจากราคาที่สูงกว่า

แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้น จากการผลิตน้ำตาลที่เลื่อนผลิตจากช่วงไตรมาสแรก แต่หากไม่รวมการผลิตน้ำตาล การผลิตอาจปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และโรคระบาด และผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ แม้ว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่ แต่จากข่าวการที่รัฐบาลของหลายประเทศจะนำทองคำสำรองออกขายเพื่อลดหนี้ ทำให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจยังคงซบเซา และสหรัฐอเมริกายังสามารถใช้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 เป็นการกระตุ้นอุปสงค์ให้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก แต่สถานการณ์การผลิตภาคเกษตรของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตพืชอาหารและพลังงานลดลง และสะท้อนไปยังราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ระดับราคาสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น ส่งผลย้อนกลับมายังผู้บริโภคต้องตัดสินใจมากขึ้น นอกจากนี้การจำหน่ายในประเทศที่ได้รับผลดีจากการปรับค่าแรงและเงินเดือนส่งผลให้การบริโภคในประเทศยังคงมีการขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง และเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จีนและญี่ปุ่นยังขยายตัว ประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นภายหลังเกิดภัยแล้งในสหรัฐอเมริกา แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออก ที่คาดว่าจะปรับชะลอตัวลง จากค่าเงินบาทที่มักจะแข็งค่ารุนแรงกว่าเงินสกุลอื่น ซึ่งเป็นผลจากการเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยมากขึ้น จากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 และการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง และค่าเงินในภูมิภาคเอเชียปรับแข็งค่าขึ้น ประกอบกับการค้าของไทยยังผูกกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกามากกว่าเงินสกุลอื่น ซึ่งอาจทำให้การผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ