สศอ. เตรียมปรับ MPI รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ตั้งเป้า MPI ให้มีการขยายความครอบคลุมนอกเหนือจากภาคการผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 1, 2017 11:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) วางแผนปรับโครงสร้างการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) รองรับผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) พร้อมตั้งเป้าพัฒนาดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมให้ขยายความครอบคลุมนอกเหนือหมวดภาคการผลิต

นายอิทธิชัย ปัทมสิริวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้วางแผนที่จะบรรจุผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เข้ามาคำนวณดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจ ให้มีการปรับเปลี่ยนไปตามพลวัตรอย่างเหมาะสมเพื่อสะท้อนภาคเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้องและทันสมัย เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เพิ่มเติมตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ กลุ่ม First S-Curve ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และกลุ่ม New S -Curve ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ตามนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ ในการปรับปรุงประจำปีที่ผ่านมา ได้นำผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ เข้ามาคำนวณดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมแล้ว และมีแผนงานขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในรอบการปรับปรุงครั้งต่อไป

นายอิทธิชัยฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ต่างไปจากเดิม ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจอยู่อย่างสม่ำเสมอ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจึงตั้งเป้าหมายในการพัฒนาดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมให้มีความครอบคลุมไปสู่หมวดต่าง ๆ นอกเหนือจากภาคการผลิต (หมวด C) ตามมาตรฐานการจัดหมวดหมู่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามคำแนะนำขององค์การสหประชาชาติ (United Nation : UN) โดยจะเริ่มที่หมวดไฟฟ้า ก๊าซ อากาศ (หมวด D) เพื่อให้ได้ข้อมูลภาคอุตสาหกรรมที่ต้องมีความถูกต้อง ครอบคลุม และครบถ้วนจากผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้ดัชนีฯ เป็นเครื่องบ่งชี้เศรษฐกิจที่ทรงประสิทธิภาพ ทั้งในระดับมหภาคและอุตสาหกรรมรายสาขา เพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นส่วนประกอบในการวางแผนและเสนอนโยบายด้านอุตสาหกรรมต่อรัฐบาล ในการสนับสนุนส่งเสริมภาคเอกชน และสร้างความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ