รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยประจำเดือน พฤษภาคม 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 11, 2004 15:05 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

1. การส่งออก 1.1 ภาวะการส่งออก - มูลค่าการส่งออกเดือนพฤษภาคมเท่ากับ 8,109 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาร้อยละ 20.1 และการส่งออกช่วง 5 เดือนแรก (มค.-พค.) ของปี 2547 มีมูลค่าเท่ากับ 37,804 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ร้อยละ 20 เป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรร้อยละ 10.4 และสินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 22.5 - มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวมีอัตราการขยายตัวสูงทั้งปริมาณ (ร้อยละ 56.6) และมูลค่า (ร้อยละ 69.6) และมีแนวโน้มจะขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนผลผลิตขาดแคลนไม่เพียงพอต่อการส่งออก เวียดนามได้ส่งออกข้าวเป็นจำนวนมากไปแล้วในช่วงต้นปี และรัฐบาลชุดใหม่ของอินเดียมีนโยบายไม่ให้การอุดหนุนการส่งออกธัญพืช ส่วนยางพาราขยายตัวทั้งปริมาณการส่งออก (ร้อยละ 0.3) และมูลค่า (ร้อยละ 41) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนที่แล้ว ขณะนี้แม้ว่าผลผลิตและการซื้อขายจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ราคายางจึงยังมีแนวโน้มจะสูงต่อเนื่องเช่นกัน สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปริมาณ การส่งออกลดลงร้อยละ 5.8 แต่มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 12.3 - สินค้าประเภทอาหารส่งออกลดลงร้อยละ 4.2 (ลดลงร้อยละ 1.6 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2547) โดย สินค้ากุ้งแช่แข็งและแปรรูปส่งออกลดลงร้อยละ 29.6 ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้มีมาตรการห้ามนำเข้ากุ้งจากทะเลไทย เนื่องจากเรือประมงไทยมิได้ติดตั้งเครื่องมือแยกเต่าทะเล (TED) ตามที่สหรัฐฯกำหนด ส่งผลให้ขณะนี้การส่งออกกุ้งเข้าไปยังตลาดสหรัฐฯน้อยมาก สำหรับไก่สดแช่แข็งและแปรรูปลดลงร้อยละ 49 โดยตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยจนถึงสิ้นปี 2547 เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ว่าเป็นเขตปลอดโรคระบาดอย่างเป็นทางการ - สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีร้อยละ 24.3 โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 46.6) ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ร้อยละ 54.8) ส่วนสินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ อัญมณีเครื่องประดับ (ร้อยละ 7) และของเล่น (ร้อยละ 3) 1.2 ตลาดส่งออก/เป้าหมาย - ตลาดหลักยังขยายตัวร้อยละ 14.9 สูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย (เป้าหมายร้อยละ 11) โดยเฉพาะอาเซียนขยายตัวร้อยละ 20.8 (เป้าหมายร้อยละ 15.4) ตลาดที่ขยายตัวสูง ได้แก่ บรูไนขยายตัวร้อยละ 82.1 (เป้าหมายร้อยละ 20) และมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 53.2 (เป้าหมายร้อยละ 25) ส่วนตลาดที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย คือ สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.4 (เป้าหมายร้อยละ 5) และอินโดนีเซียขยายตัว ร้อยละ 13.7 (เป้าหมายร้อยละ 20) - ตลาดใหม่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง คือ ร้อยละ 29.4 (เป้าหมายร้อยละ 21.7) ตลาดที่มีการขยายตัวสูง ได้แก่ อินเดีย ขยายตัวร้อยละ 92 (เป้าหมายร้อยละ 55) แอฟริกาขยายตัวร้อยละ 69.2 (เป้าหมายร้อยละ15) และลาตินอเมริกาขยายตัวร้อยละ 30.9 (เป้าหมายร้อยละ 15) 2. การนำเข้าและดุลการค้า - การนำเข้าในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่า 7,978.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 33.1 แต่มูลค่าน้อยกว่าการส่งออก จึงส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าประมาณ 130.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ เป็นการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในทุกหมวดตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ใช้ผลิตเพื่อการส่งออก เช่น เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เพชรและพลอย ฯลฯ ส่วนสินค้าเชื้อเพลิงที่นำเข้า ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป - การนำเข้าในระยะ 5 เดือนแรกของปี 2547 (มค.-พค.) มีมูลค่า 37,410.8ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 เป็นการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตราสูงทุกหมวด ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ร้อยละ 31.2) สินค้าเชื้อเพลิง (ร้อยละ 37.7) สินค้าทุน (ร้อยละ 26.1) สินค้ายานพาหนะฯ(ร้อยละ 25.1) และสินค้าอุปโภคบริโภค(ร้อยละ 20.9) 3. ดัชนีเศรษฐกิจ - ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2547 เท่ากับ 108.9 สูงขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 0.4 และสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 เนื่องจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดไม่รวมอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ เช่น ก๊าซหุงต้ม (มีการปรับราคาขายปลีกสูงขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท) น้ำมันเชื้อเพลิง (ปรับเพดานราคาสูงขึ้นลิตรละ 0.60 บาท ค่าการศึกษา (สถานศึกษาของเอกชนปรับค่าธรรมเนียมต่างๆ สูงขึ้น) เป็นต้น - สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอยยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547) ซึ่งเดือนพฤษภาคมนี้ มีค่า 42.0 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 และลดลงจากเดือนเมษายน 2547 ร้อยละ 10.4 เป็นผลจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ และราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นปัจจัยด้านลบที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค - สำหรับดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจในระยะไตรมาสที่ 3 มีค่าเท่ากับ 63.7 (เหนือกว่าระดับ 50) แสดงว่านักธุรกิจยังคงมีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยนักธุรกิจร้อยละ 40 คาดว่าภาวะเศรษฐกิจจะยังคงดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 45 คาดว่าเศรษฐกิจจะไม่เปลี่ยนแปลง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ