แนวทางพิจารณาเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามมาตรา 33

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday February 24, 2004 13:26 —ประกาศ ก.ล.ต.

             ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ นจ. 1/2547
เรื่อง แนวทางพิจารณาเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่แก่ผู้ถือหุ้น
เดิมตามมาตรา 33
______________________
ที่มา
1. มาตรา 33 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ยกเว้นให้การเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่แก่ผู้ถือหุ้นเดิม โดยได้รับชำระราคาเต็มมูลค่าที่เสนอขายจากผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทมหาชนจำกัดนั้น สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 35 และไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลก่อนการเสนอขายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 65
2. โดยที่การเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านมา มีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันไป จึงมีประเด็นพิจารณาว่า การเสนอขายหลักทรัพย์แก่ผู้ถือหุ้นเพียงบางราย โดยไม่ได้เสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายตามสัดส่วนการถือหุ้น หรือการเสนอขายที่ให้สิทธิผู้ถือหุ้นต่างประเภทซื้อหุ้นในสัดส่วนที่ต่างกัน (เช่น ให้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นสามัญ ในอัตราที่แตกต่างจากผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ เป็นต้น) เข้าข่ายเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่ได้รับยกเว้นเรื่องการอนุญาตและการเปิดเผยข้อมูลก่อนการเสนอขาย ตามมาตรา 33 ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ผู้ถือหุ้นเดิมบางรายดังกล่าวทั้งจำนวน หรือการเสนอขายหลักทรัพย์ในส่วนที่เหลือจากการจองซื้อของผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นแนวทางการกำกับดูแลของสำนักงาน
1. หลักการ
สำนักงานเห็นว่า การที่มาตรา 33 กำหนดให้การเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ของบริษัทมหาชนจำกัดต้องได้รับอนุญาตและเปิดเผยข้อมูลก่อนการเสนอขายนั้น มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุน รวมทั้งรักษาความเชื่อมั่นและความเป็นธรรมในตลาดทุนโดยรวม โดยให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องและเพียงพอต่อการตัดสินใจ และได้รับความเป็นธรรมในการลงทุนการคุ้มครองผู้ลงทุนดังกล่าว โดยทั่วไปมักหมายถึง ผู้ลงทุนที่เป็นผู้จองซื้อหลักทรัพย์ที่เสนอขาย ซึ่งในกรณีเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ให้ผู้ถือหุ้นเดิม ผู้จองซื้อหลักทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมสามารถเข้าถึงข้อมูลของกิจการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีกลไกเพื่อคุ้มครองผู้จองซื้อหลักทรัพย์อีกอย่างไรก็ดี ในกรณีบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เป็นบริษัทจดทะเบียน ผู้ถือหุ้นเป็นประชาชนทั่วไปในวงกว้าง การคุ้มครอง "ผู้ลงทุน" จึงหมายถึงผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นด้วย และโดยที่การออกหุ้นเพิ่มทุนจะมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ทำให้สัดส่วนการใช้สิทธิออกเสียงต่อหุ้นลดลง (control dilution) กำไรต่อหุ้นลดลง (EPS dilution) และหากขายหุ้นเพิ่มทุนในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ก็จะทำให้มูลค่าตลาดต่อหุ้นลดลงด้วย (price dilution) ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนที่จะได้รับผลกระทบนี้อย่างเพียงพอ เพื่อรักษาความเป็นธรรมในตลาดทุนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย
2. แนวทางการพิจารณา
จากหลักการข้างต้น สำนักงานจึงเห็นว่า การเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่ได้รับยกเว้นการขออนุญาตและการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรา 33 และมาตรา 65 นั้น หมายถึง เฉพาะการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ผู้ถือหุ้น ในลักษณะที่ไม่จำเป็นต้องมีกลไกการคุ้มครองผู้ลงทุนเพิ่มเติมอีก ซึ่งได้แก่
2.1 การเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่แก่ผู้ถือหุ้นทุกราย ตามสัดส่วนการถือหุ้น (right issue) เนื่องจากผู้ถือหุ้นมีข้อมูลเกี่ยวกับกิจการอยู่แล้ว และการให้ผู้ถือหุ้นทุกรายมีสิทธิซื้อหุ้นในสัดส่วนเดียวกัน ทำให้ผู้ถือหุ้นแต่ละราย ยังมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของ และส่วนแบ่งกำไรในกิจการเท่าเดิม (ไม่เกิด dilution) ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองผู้ลงทุนอีก ทั้งในส่วนที่เป็นผู้จองซื้อหลักทรัพย์ และผู้ถือหุ้นเดิม ทั้งนี้ ไม่ว่าผลที่สุดแล้ว ผู้ถือหุ้นแต่ละรายจะตัดสินใจใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้นหรือไม่
2.2 การเสนอขายหลักทรัพย์ที่เหลือจากการจองซื้อของผู้ถือหุ้นเดิมตาม 2.1.โดยการให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมทุกราย สามารถจองซื้อหลักทรัพย์เกินสิทธิได้ (บริษัทอาจแจ้งการให้สิทธินี้ พร้อมการเสนอขายตาม
2.1. ก็ได้) และหากมีจำนวนหลักทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นจองซื้อเกินสิทธิ เกินกว่าจำนวนหลักทรัพย์ที่เหลือ ต้องมีการจัดสรรหลักทรัพย์ที่เหลือนั้นอย่างเป็นธรรม เช่น ตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม หรือตามสัดส่วนจำนวนหลักทรัพย์ที่จองซื้อเกินสิทธิ เป็นต้น
3. ข้อสังเกตเพิ่มเติม
3.1 จากแนวทางการพิจารณาข้างต้น ทำให้การเสนอขายหลักทรัพย์ในลักษณะดังต่อไปนี้ ไม่เข้าข่ายได้รับยกเว้นตามมาตรา 33 ซึ่งบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ยังต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การขออนุญาต และการเปิดเผยข้อมูลตามปกติ
(1) การให้สิทธิซื้อหลักทรัพย์เฉพาะแก่ผู้ถือหุ้นบางราย หรือบางประเภท (เช่น เฉพาะผู้ถือหุ้นสามัญ) หรือให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นแต่ละราย หรือแต่ละประเภทในสัดส่วนไม่เท่ากัน (เว้นแต่ผู้ถือหุ้นรายที่ได้สิทธิด้อยกว่าผู้ถือหุ้นรายอื่นนั้น จะได้ให้ความยินยอมเป็นรายบุคคล ซึ่งถือว่าบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ได้ให้สิทธิผู้ถือหุ้นทุกรายเท่าเทียมกันแล้ว) เนื่องจากการเสนอขายในลักษณะดังกล่าว ทำให้ผู้ถือหุ้นรายที่ไม่ได้รับสิทธิ หรือได้รับสิทธิด้อยกว่า ได้รับความไม่เป็นธรรม
(2) การจัดสรรหลักทรัพย์ที่เหลือจากการใช้สิทธิจองซื้อของผู้ถือหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นบางราย กรรมการ หรือบุคคลอื่น ซึ่งการจัดสรรหลักทรัพย์ดังกล่าวจะถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อบุคคลในวงจำกัด (private placement) การเสนอขายต่อประชาชน หรือการเสนอขายต่อกรรมการหรือพนักงาน ตามแต่กรณี
3.2 ในกรณีเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ที่เหลือจากการใช้สิทธิจองซื้อของผู้ถือหุ้นให้แก่บุคคลอื่น ราคาหลักทรัพย์ที่เสนอขายควรจะสอดคล้องกับราคาตลาดและมูลค่ายุติธรรมของหลักทรัพย์นั้น ไม่ใช่ราคาที่มีส่วนลดเหมือนการให้สิทธิผู้ถือหุ้น เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหม่ไม่มีต้นทุนจากการที่หุ้นเดิมมีมูลค่าลดลง หากนำหุ้นที่มีส่วนลดนั้นไปเสนอขายให้แก่บุคคลอื่น ก็จะมีลักษณะเป็นการนำประโยชน์ที่ควรเป็นของผู้ถือหุ้นโดยรวม ไปจัดสรรให้บุคคลเพียงบางกลุ่มโดยไม่สมควร
3.3 หากจะเสนอขายให้บุคคลเพียงบางราย ในราคาเดียวกับ right issue ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าราคาตลาด ควรแยกการขอมติในเรื่องการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ผู้ถือหุ้นเดิม และการจัดสรรหลักทรัพย์ที่เหลือจาก right issue ให้บุคคลเพียงบางราย ออกจากกัน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิคัดค้านการจัดสรรหลักทรัพย์ส่วนที่เหลือได้โดยไม่กระทบกับมติเรื่องการออก right issue และควรเปิดเผยชื่อบุคคลที่ได้รับจัดสรร ลักษณะความสัมพันธ์กับผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท และเหตุผลความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเช่นนั้นในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาดด้วย
ประกาศ ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ