การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน และการกำหนดอัตราส่วนการลงทุนของกองทุน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday March 15, 2005 13:34 —ประกาศ ก.ล.ต.

                     ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 7/2548
เรื่อง การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน
ในต่างประเทศเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน และ
การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนของกองทุน
_______________________
เพื่อเปิดโอกาสให้กองทุนมีทางเลือกในการลงทุนหรือแสวงหาประโยชน์หลากหลายมากยิ่งขึ้นภายใต้หลักของการกระจายความเสี่ยง สำนักงานโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงเห็นสมควรขยายขอบเขตการลงทุนของกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลให้สามารถลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศได้ ภายในอัตราส่วนการลงทุนที่เหมาะสมซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อกองทุนมากเกินไป
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 126(4) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบข้อ 11 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และข้อ 2(1) และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวม หรือกองทุนส่วนบุคคล
“กองทุนรวมต่างประเทศ” หมายความว่า กองทุนรวมที่จัดตั้งและจัดการอยู่ในต่างประเทศ
“ตราสารทางการเงิน” หมายความว่า พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน
ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และให้หมายความรวมถึงเงินฝาก และสัญญาทางการเงินอื่นด้วย
“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทจัดการกองทุนรวม และบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล
“บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
“บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
“บริษัทต่างประเทศ” หมายความว่า บริษัทที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้
(1) พันธบัตรที่รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศเป็นผู้ออก โดยพันธบัตรดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน ทั้งนี้ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว
อาจเป็นการจัดอันดับที่ตัวผู้ออกก็ได้
(2) พันธบัตรที่รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายต่างประเทศเป็นผู้ออก โดยพันธบัตรดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน
(3) หุ้นที่ซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organizations of Securities Commission (IOSCO) หรือที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกของ World Federations of Exchange (WFE) ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
(4) หุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทต่างประเทศ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวต้องได้รับการจัดอันดับความ
น่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับ
การยอมรับจากสำนักงาน และได้รับการคัดเลือกให้ใช้ในการคำนวณดัชนีตราสารแห่งหนี้ (benchmark bond index) ที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วย
(5) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organizations of Securities Commission (IOSCO) หรือในประเทศที่มีตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ World Federations of Exchange
(WFE) แต่ไม่รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมประเภทเฮดจ์ฟันด์ (hedge fund)
(6) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (derivatives
exchange) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organizations
of Securities Commission (IOSCO) หรือประเทศที่มีตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ World
Federations of Exchange (WFE) ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นเท่านั้น และผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
(ข) บริษัทจัดการจัดให้มีระบบที่เหมาะสมในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าว
(7) หุ้นกู้อนุพันธ์หรือตราสารทางการเงินที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (structured note) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน และมีลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) ผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ หรือคู่สัญญาในตราสารทางการเงินดังกล่าว เป็นบริษัท
ต่างประเทศซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)
จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน และ
(ข) หุ้นกู้อนุพันธ์หรือตราสารทางการเงินดังกล่าวต้องไม่มีข้อกำหนดให้กองทุนรวม
มีหน้าที่ต้องชำระหนี้มากกว่ามูลค่าที่ได้ลงทุนไป
(ค) หุ้นกู้อนุพันธ์หรือตราสารทางการเงินดังกล่าวต้องมิได้อ้างอิงกับตัวแปร
ดังต่อไปนี้
1. ตัวแปรที่เกี่ยวกับกองทุนรวมประเภทเฮดจ์ฟันด์ (hedge fund) เว้นแต่เป็นดัชนีกองทุนรวมประเภทเฮดจ์ฟันด์ (hedge fund index) ที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน
2. ตัวแปรที่เป็นสินค้า (commodity) เว้นแต่ทองคำและน้ำมันดิบ
(ง) ในกรณีของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งมีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตัวแปรของหุ้นกู้อนุพันธ์หรือตราสารทางการเงินดังกล่าวต้องเป็นตราสารแห่งหนี้ ราคาหรืออันดับความน่าเชื่อถือของตราสารแห่งหนี้ ดัชนีตราสารแห่งหนี้ อัตราดอกเบี้ย หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงิน เท่านั้น
ข้อ 3 ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นตามข้อ 2 ที่บุคคลใดเป็นผู้ออกหรือคู่สัญญา เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนในขณะใดขณะหนึ่ง มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เว้นแต่ในกรณีของกองทุนรวมหน่วยลงทุนที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 4 และกองทุนรวมที่ได้รับการผ่อนผันตามข้อ 5
ข้อ 4 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนตามข้อ 2(5) เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมหน่วยลงทุน ให้บริษัทได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 3 หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กองทุนรวมหน่วยลงทุนดังกล่าวมีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนตามข้อ 2(5) ของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนรวมเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมหน่วยลงทุนนั้น และ
(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมแจกจ่ายเอกสารแสดงข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญของกองทุนรวมต่างประเทศซึ่งผู้ลงทุนควรทราบ ให้แก่ผู้ลงทุนพร้อมกับหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวต้องมีข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(ก) ชื่อ ประเภท และอายุของโครงการกองทุนรวมต่างประเทศ
(ข) นโยบายการลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ
(ค) ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมต่างประเทศ
ข้อ 5 ในการจัดการกองทุนรวมมีประกัน (guaranteed fund) กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น (capital protected fund) กองทุนรวมที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (specific fund) และกองทุนรวมดัชนี (index fund) บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันอัตราส่วนการลงทุนตามข้อ 3 ต่อสำนักงานได้
ข้อ 6 ในการจัดการกองทุนที่มีการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศตามข้อ 2 ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งเงินฝากระยะสั้น หรือตราสารที่เทียบเท่าเงินฝาก (near-cash) ระยะสั้น ในสถาบันการเงินที่ตั้งในประเทศที่ได้ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวได้ หากการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งเงินฝากหรือตราสารที่เทียบเท่าเงินฝากดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกหรือป้องกันปัญหาในการดำเนินงานของกองทุน เช่น เพื่อรอการลงทุน หรือเพื่อชำระค่าใช้จ่าย เป็นต้น
ข้อ 7 ในกรณีที่บริษัทจัดการใช้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทใดที่กองทุนรวมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทนั้น และการใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเหตุให้การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวมีมูลค่าเกินอัตราส่วนที่กำหนดในข้อ 3 หรือที่ได้รับการผ่อนผันตามข้อ 5 ให้บริษัทจัดการดำเนินการแก้ไขอัตราส่วนการลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดหรือที่ได้รับการผ่อนผันภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันแรกที่ผู้ซื้อหุ้นหมดสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน
ข้อ 8 ในกรณีที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในขณะที่ลงทุนหรือในขณะที่ได้มาเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีมูลค่าไม่เกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 3 หรือที่ได้รับการผ่อนผันตามข้อ 5 หากต่อมาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนดังกล่าวโดยเหตุดังต่อไปนี้ บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปก็ได้
(1) การรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่กำหนดให้บริษัทจัดการสามารถรับชำระหนี้ดังกล่าวได้
(2) เหตุอื่นใดที่มิใช่การลงทุนหรือได้ทรัพย์สินมาเพิ่มเติม
ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานโดยระบุชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และวันที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดหรือที่ได้รับการผ่อนผันพร้อมสาเหตุ และส่งให้ผู้ดูแลผลประโยชน์หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ทราบภายในสามวันทำการนับแต่วันที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดหรือที่ได้รับการผ่อนผัน พร้อมทั้งจัดทำสำเนาไว้ที่บริษัทจัดการเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้
ข้อ 9 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2548
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

แท็ก ก.ล.ต.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ