เอแบคโพลล์: ความรุนแรงของปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดและความกังวลต่ออาชญากรรมข้ามชาติในระดับชุมชน

ข่าวผลสำรวจ Thursday September 20, 2012 09:41 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความรุนแรงของปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดและความกังวลต่ออาชญากรรมข้ามชาติในระดับชุมชน กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,360 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 — 19 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา โดยสุ่มตัวอย่างแกนนำชุมชนจากระบบฐานข้อมูลทั่วประเทศ ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 3

เมื่อถามแกนนำชุมชนโดยภาพรวมต่อสถานการณ์ปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในชุมชนล่าสุด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.7 ของแกนนำชุมชนระบุมีปัญหา ในขณะที่ร้อยละ 26.3 ระบุไม่มีปัญหา ในกลุ่มที่ระบุว่ามีปัญหาพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.0 ระบุว่ารุนแรง ในขณะที่ร้อยละ 42.0 ระบุว่าไม่รุนแรง

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกออกเป็นรายพื้นที่ พบว่า ส่วนใหญ่ของกลุ่มแกนนำชุมชนในทุกพื้นที่ระบุมีปัญหายาเสพติด ด้านผู้เสพผู้ติดยาเสพติดอยู่ในระดับรุนแรง โดยภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติดในระดับชุมชนมากที่สุดคือร้อยละ 84.4 รองลงมาคือ ภาคกลาง ร้อยละ 79.2 กรุงเทพมหานครและปริมณฑลร้อยละ 76.7 ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 66.8 และภาคเหนือร้อยละ 65.1นอกจากนี้ ร้อยละ 47.9 ของแกนนำชุมชนที่ผู้ศึกษาระบุยังคงมีปัญหาผู้ขาย ผู้ค้ายาเสพติดในชุมชนอีกด้วย และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.8 ระบุสถานการณ์ปัญหายาเสพติดระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่แตกต่างกัน

เมื่อสอบถามถึงความกังวลต่อปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.9 กังวล เพราะเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน ทุจริต คอรัปชั่น ปล่อยชาวต่างชาติเข้าออกได้ง่ายเกินไป ไม่มีข้อมูลตัวบุคคลเมื่อก่อเหตุตามตัวไม่ได้ รัฐบาลไม่ใส่ใจปัญหาชาวต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย รัฐบาลกลัวผลกระทบทางเศรษฐกิจมากเกินไป และเจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในการรับมือป้องกันแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติอีกด้วย

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า มีประเด็นที่น่าพิจารณาอย่างน้อยสามประการคือ 1) การรับสินบน ทุจริต คอรัปชั่นในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ 2) การกลับมาของปัญหายาเสพติด และ 3) การขยายตัวของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ โดยมีแนวคิดวิเคราะห์และทางออกดังนี้

ประการแรก การรับสินบน ทุจริต คอรัปชั่นในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเพราะรัฐบาลเกือบทุกรัฐบาลไม่สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐและไม่คุ้มครองชาวบ้านที่ออกมาเปิดเผยขบวนการทุจริตคอรัปชั่นเพราะเกรงว่าจะทุบหม้อข้าวของฐานการเมืองตนเอง ดังนั้นหน่วยงานของรัฐด้านการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นต้องมียุทธศาสตร์ออกมาช่วยเหลือปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเองมากกว่าการใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการออกแถลงการณ์ตอบโต้ผลวิจัยที่พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วยตามที่เป็นข่าวอย่างแพร่หลายนั้น นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ในสังคมต้องทำอะไรที่มากกว่า “คำสอน” เพราะอาจจะยังไม่มีพลังมากพอทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของหน่วยงานรัฐที่จะเก็บกวาดบ้านของตนเองและจัดระเบียบสังคมให้ใสสะอาดได้

ประการที่สอง สถานการณ์ปัญหายาเสพติดต้องการคณะบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญทุกมิติมากกว่าการประชาสัมพันธ์เพียงอย่างเดียวและผลวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่า การปราบด้วยการทำสงครามยาเสพติดอย่างเดียวไม่ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนแต่การป้องกันและการบำบัดฟื้นฟูจะมีประสิทธิภาพและคุ้มค่างบประมาณที่ลงทุนไปมากกว่าการปราบปราม เพราะขบวนการค้ายาเสพติดจะมีวิธีเอาตัวรอดมีตัวตายตัวแทนและไม่สามารถสืบจับไปถึงผู้อยู่เบื้องหลังแท้จริงได้ เช่น ล่าสุดมีข้อมูลวิจัยพบว่าขบวนการค้ายาเสพติดยอมให้มีการจับกุมล็อตใหญ่โดยผู้ใหญ่ก็มีผลงานโดดเด่นไปตามๆ กัน แต่ล็อตใหญ่กว่านั้นสามารถหลุดรอดได้ในวันแถลงข่าวจับกุมนั้นเอง

ประการที่สาม สถานการณ์อาชญากรรมข้ามชาติน่าเป็นห่วงเพราะบางพื้นที่บางซอยเป็นของชาวต่างชาติไปแล้ว ทางออกที่น่าพิจารณาคือ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจำเป็นต้องกล้าหาญตัดสินใจด้วยตนเองนำคณะบุคคลผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมมาเป็นรัฐมนตรีสามารถสั่งการให้หน่วยงานรัฐทำงานร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพแท้จริงไม่ใช่เพียงภาพที่ปรากฏหน้าจอทีวีเพียงอย่างเดียวเพราะอย่าลืมว่าประชาชนจำนวนมากไม่ใช่ “กล่องรับสัญญาณ” เพียงอย่างเดียวแต่มีศักยภาพที่จะตอบโต้กับข้อมูลต่างๆ ที่ส่งมาให้ผ่านสื่อต่างๆ ดังนั้น โอกาสของการปรับคณะรัฐมนตรีกำลังเป็นโอกาสของการแสดงให้เห็นพัฒนาการของความเป็นผู้นำในฐานะนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 83.2 เป็นชาย ร้อยละ 16.8 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.2 อายุน้อยกว่า 30 ปี ร้อยละ 9.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 35.3 อายุระหว่าง 40—49 ปี ร้อยละ 41.9 อายุระหว่าง 50—59 ปี และ ร้อยละ 10.3 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 82.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 15.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 2.7 สำเร็จการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรี

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ โดยภาพรวมปัญหาด้านผู้เสพ / ผู้ติดยาเสพติดในชุมชน
ลำดับที่          สถานการณ์ปัญหา          ค่าร้อยละ
1          มีปัญหา                       73.7
2          ไม่มีปัญหา                     26.3
          รวมทั้งสิ้น                     100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ ความรุนแรงของปัญหาด้านผู้เสพ / ผู้ติดยาเสพติด
ลำดับที่          ความรุนแรง             ค่าร้อยละ
1          รุนแรง                       58.0
2          ไม่รุนแรง                     42.0
          รวมทั้งสิ้น                     100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ ความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ด้านผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนของตนเองในปัจจุบันจำแนกตามภาค
ลำดับที่                กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  ภาคกลาง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   ภาคเหนือ    ภาคใต้
1          รุนแรง              76.7           79.2          66.8             65.1      84.4
2          ไม่รุนแรง            23.3           20.8          33.2             34.9      15.6
          รวมทั้งสิ้น            100.0          100.0         100.0            100.0     100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ ปัญหาด้านผู้ค้ายาเสพติด
ลำดับที่          สถานการณ์ปัญหา          ค่าร้อยละ
1          มีปัญหา                      47.9
2          ไม่มีปัญหา                    52.1
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ การเปรียบเทียบสถานการณ์ปัญหายาเสพติดระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับ รัฐบาลอภิสิทธิ์
ลำดับที่          เปรียบเทียบสถานการณ์ปัญหายาเสพติดระหว่างสองรัฐบาล           ค่าร้อยละ
1          ปัญหายาเสพติดยุครัฐบาลอภิสิทธิ์มากกว่า                              23.7
2          ไม่แตกต่างกัน                                                 63.8
3          ปัญหายาเสพติดยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์มากกว่า                             12.5
          รวมทั้งสิ้น                                                    100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ ความกังวลต่อปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
ลำดับที่          ความกังวล                       ค่าร้อยละ
1          กังวล เพราะ เจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน ทุจริต คอรัปชั่น ปล่อยชาวต่างชาติเข้าออกประเทศได้ง่ายเกินไป ไม่มีข้อมูลตัวบุคคลเมื่อก่อเหตุตามตัวไม่ได้ รัฐบาลไม่ใส่ใจปัญหาชาวต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย รัฐบาลกลัวผลกระทบทางเศรษฐกิจมากเกินไป และเจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ เป็นต้น                    68.9
2          ไม่กังวล                               31.1
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลนางสวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในการรับมือป้องกันแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
ลำดับที่          ความเชื่อมั่น           ค่าร้อยละ
1          เชื่อมั่น                      25.1
2          ไม่เชื่อมั่น                    74.9
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ