เอแบคโพลล์: ต้นเหตุการเมืองระดับชาติ กับ การเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ใครนำใครตามในโค้งที่สอง

ข่าวผลสำรวจ Monday February 4, 2013 07:11 —เอแบคโพลล์

ดร. นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ต้นเหตุการเมืองระดับชาติ กับ การเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ใครนำใครตามในโค้งที่สอง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,673 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการและวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 31 มกราคม — 2 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นเลือกเขต แขวง ชุมชน และลงสัมภาษณ์แบบเคาะประตูบ้านในระดับครัวเรือน ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.3 กำลังติดตามข่าวเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำทุกสัปดาห์

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึงข่าวสารความขัดแย้งภายในระหว่าง นปช. กับ รัฐบาลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเรื่อง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในครั้งนี้หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.8 ระบุไม่ส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในขณะที่ร้อยละ 40.2 ระบุว่า ส่งผล

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงข่าวสารประเด็นการเมืองระดับชาติในปัจจุบัน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม และเขาพระวิหาร ส่งผลต่อการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ในครั้งนี้หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.5 ระบุไม่ส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในขณะที่ร้อยละ 35.5 ระบุว่า ส่งผล

          ที่น่าสนใจคือ ข่าวการที่ข้าราชการ กทม. ไม่ยอมให้ พล.ต.อ.พงศพัศ  พงษ์เจริญเข้าไปหาเสียงแต่อนุญาตให้                ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  บริพัตร เข้าไปหาเสียงได้ ส่งผลต่อความรู้สึกอย่างไรต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.9 ระบุ ส่งผลดีต่อ พล.ต.อ.พงพัศ  พงษ์เจริญ ในขณะที่ร้อยละ 46.1ระบุไม่ส่งผลอะไร

เมื่อสอบถามถึงความตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ที่จะมาถึงนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.4 ตั้งใจจะไป ในขณะที่ร้อยละ 36.6 จะไม่ไป

ที่สำคัญคือ เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ท่านจะเลือกใคร พบว่า ความนิยมของสาธารณชนคนกรุงเทพมหานครต่อ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจิรญ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ จากร้อยละ 32.1 ก่อนวันรับสมัคร มาอยู่ที่ร้อยละ 41.8 ในโค้งที่ 1 และร้อยละ 43.1 ในโค้งที่ 2 ในขณะที่ สัดส่วนของประชาชนที่ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 37.6 ในโค้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 33.1 ในโค้งที่ 2 ส่งผลทำให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ทิ้งห่าง ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ออกไปอีก จาก 4.2 จุด เป็น 10 จุดในการสำรวจครั้งนี้ และจากการสัมภาษณ์เจาะลึกพบเหตุผลที่ทำให้ พล.ต.อ.พงศพัศ มีคะแนนนำในหมู่ประชาชน พบว่า อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือ Change ในทิศทางที่ดีขึ้นของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังระบุว่า “เบื่อความขัดแย้ง” และยังต้องการให้โอกาสกับผู้สมัครคนใหม่อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ นโยบายที่จับต้องได้เป็นประโยชน์ลดความเดือดร้อนของประชาชนและมีความเป็นไปได้ว่า ทำได้จริงเพราะมีรัฐบาลสนับสนุน

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนคนกรุงเทพมหานครอยากให้ ผู้ว่า กทม. คนต่อไปดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ โดยพบว่า ร้อยละ 32.9 ระบุสวนสาธารณะ รองลงมาคือ ร้อยละ 18.0 ระบุสนามกีฬา ร้อยละ 17.0 ระบุสถานฝึกอบรมอาชีพ ร้อยละ 8.5 ระบุศูนย์นันทนาการสาธารณะ ร้อยละ 7.2 ระบุห้องสมุดประชาชน และรองๆ ลงไปคือ พิพิธภัณฑ์ที่สามารถให้ความรู้แก่ประชาชน ลานแสดงหรือจัดกิจกรรมสาธารณะ พื้นที่เพาะปลูก เลี้ยงสัตวในชุมชน และอื่นๆ เช่น สระว่ายน้ำ กทม. ลานชุมชนทางการเมือง ลานบุญลานธรรม เป็นต้น

          ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ทางการเมืองระดับชาติเช่นการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กลุ่มนักโทษทางการเมืองไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. เนื่องจากผลวิจัยเคยชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่สนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง นอกจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกรณีเขาพระวิหารยังไม่ส่งผลกระทบเช่นกันต่อคะแนนนิยมของสาธารณชนคนกรุงเทพมหานครต่อผู้สมัครเป็นผู้ว่า กทม.  แต่เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมกลับเป็นข่าวเหตุการณ์ที่ พล.ต.อ.พงศพัศ ถูกเจ้าหน้าที่ กทม. สกัดกั้นไม่ให้เข้าไปหาเสียงแต่ไม่สกัดกั้น                 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ผู้ถูกศึกษาเล็งเห็นถึงความไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ จึงส่งผลดีต่อคะแนนนิยมของประชาชนต่อ พล.อ.ต.พงศพัศ พงษ์เจริญได้

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อาจเป็นไปได้ว่า พรรคเพื่อไทยกำลังมีปัจจัยบวกเข้ามาเพิ่มความลงตัวจากฐานเสียงของ ส.ก. ส.ข. และการสนับสนุนจาก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รวมถึงการเปิดตัวรองผู้ว่า กทม.ของ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย เช่น พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงษ์ และ นางปวีณา หงสกุล เป็นต้น ในขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ยังไม่มีอะไรโดดเด่นขึ้นมาในช่วงเวลาของการทำสำรวจ ส่งผลให้คะแนนนิยมของ พล.ต.อ.พงศพัศ เริ่มทิ้งห่างออกไปอีกในโค้งที่สองนี้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ จากการวิจัยเชิงลึกพบว่า ประชาชนจำนวนหนึ่งถ้ามั่นใจว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะหรือแพ้การเลือกตั้งก็อาจจะไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ และอาจส่งผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่คาดว่าจะชนะจะกลายเป็นผู้ชนะในโพลล์เท่านั้นแต่ไม่ชนะในวันเลือกตั้งจริง

“ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนวันเลือกตั้ง คณะผู้วิจัยเสนอโมเดลการใช้สื่อสร้างสรรค์คะแนนนิยมโดยกลุ่มผู้สมัครควรคิดถึงกิจกรรมสำคัญๆ แบ่งออกเป็นสัปดาห์ต่างๆ ก่อนวันเลือกตั้ง เช่น ยุทธศาสตร์การเคาะประตูบ้านในพื้นที่ที่เตรียมตัวไว้อย่างดี การเพิ่มความถี่ในการโฟนอินออกรายการวิทยุ ทีวีเพราะยิ่งใกล้วันเลือกตั้งยิ่งมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสนใจการรณรงค์หาเสียงมากขึ้น และในสัปดาห์ท้ายๆ ก่อนวันเลือกตั้งการลงโฆษณาหาเสียงในหนังสือพิมพ์ การแนะนำตัว แนะนำนโยบายทางไปรษณีย์ถึงครัวเรือนประชาชนและการใช้สื่อออนไลน์ให้ถี่ขึ้นเป็นเรื่องที่มีการทำกันเป็นมาตรฐานสากลของกิจกรรมรณงค์เพื่อชนะการเลือกตั้ง และในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งผู้สมัครที่ได้รับคะแนนนิยมสูงๆ มักจะใช้การโฟนอินหรือการออกรายการสดทางวิทยุประมาณ 3 — 5 ครั้งต่อวันในช่วงเด่นเวลาดีหรือไพร์มไทม์” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 52.0 เป็นหญิง ร้อยละ 48.0 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 3.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.3 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 22.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 71.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 26.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 1.4 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 38.6 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 21.5 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 6.4 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 3.8 เป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 16.6 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 11.5 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 1.6 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ผ่านสื่อมวลชน          ค่าร้อยละ
1          เป็นประจำทุกสัปดาห์                                   90.3
2          ไม่เป็นประจำถึงไม่ได้ติดตามเลย                           9.7
          รวมทั้งสิ้น                                           100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวความขัดแย้งภายในระหว่าง นปช. กับรัฐบาล เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเรื่อง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม ในครั้งนี้
ลำดับที่          ความคิดเห็น                      ค่าร้อยละ
1          ส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.             40.2
2          ไม่ส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.           59.8
          รวมทั้งสิ้น                             100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการเมืองระดับชาติในปัจจุบัน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเขาพระวิหาร ส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในครั้งนี้
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          ส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.            35.5
2          ไม่ส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.          64.5
          รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่ข้าราชการ กทม. ไม่ยอมให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เข้าไปหาเสียงแต่อนุญาตให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เข้าไปหาเสียงได้ ส่งผลต่อความรู้สึกในการตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.
ลำดับที่          ความคิดเห็น                          ค่าร้อยละ
1          ส่งผลดีต่อ พล.ต.อ.พงพัศ  พงษ์เจริญ            53.9
2          ไม่ส่งผลอะไร                              46.1
          รวมทั้งสิ้น                                 100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่จะมาถึงนี้
ลำดับที่          การไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่จะถึงนี้        ค่าร้อยละ
1          ไป                                           63.4
2          ไม่ไป                                         36.6
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 6 แสดงแนวโน้มค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุผู้สมัครที่ตั้งจะใจเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง จำแนกตามช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนวันรับสมัคร โค้งที่ 1 และโค้งที่ 2
ลำดับที่          ผู้สมัครที่ตั้งจะใจเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง          ก่อนวันสมัครร้อยละ   โค้งที่ 1 ร้อยละ   โค้งที่ 2 ร้อยละ
1          พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ พรรคเพื่อไทย                    32.1            41.8           43.1
2          ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์                   31.7            37.6           33.1
3          พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส ผู้สมัครอิสระ                   14.5            14.3            8.7
4          อื่นๆ เช่น นายสุหฤท สยามวาลา นายโฆสิต สุวินิจจิต เป็นต้น       21.7             6.3           15.1
           รวมทั้งสิ้น                                            100.0           100.0          100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นที่อยากให้ผู้ว่า กทม. ดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ
ลำดับที่          พื้นที่สร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ                                    ค่าร้อยละ
1          สวนสาธารณะ                                                  32.9
2          สนามกีฬา                                                     18.0
3          สถานฝึกอบรมอาชีพ                                              17.0
4          ศูนย์นันทนาการสาธารณะ                                           8.5
5          ห้องสมุดประชาชนที่ทันสมัย                                          7.2
6          พิพิธภัณฑ์ที่สามารถให้ความรู้แก่ประชาชน                                6.0
7          ลานแสดงหรือจัดกิจกรรมสาธารณะ                                    4.4
8          พื้นที่เพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์ในชุมชน                                     2.3
9          อื่นๆ สระว่ายน้ำ กทม.  ลานชุมนุมทางการเมือง ลานบุญลานธรรม เป็นต้น      3.7
          รวมทั้งสิ้น                                                     100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ