เอแบคโพลล์: สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ข่าวผลสำรวจ Monday April 1, 2013 07:46 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรปราการ พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา ชุมพร ตรัง และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,153 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 — 30 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 คิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใกล้ตัว มีเพียงร้อยละ 10.1 เท่านั้นที่คิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไกลตัว โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.5 ระบุรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันช่วยปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีการไตร่สวนผลกระทบต่อประชาชนจากมลพิษสิ่งแวดล้อม กากสารพิษ สารตะกั่ว การสูญเสียจากการชุมนุมต่างๆ เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาคือ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.7 อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข ในขณะที่ร้อยละ 80.6 อยากขจัดนักการเมืองที่ไม่ดีออกไป ร้อยละ 75.1 อยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิทธิได้รับการคุ้มครองแท้จริง ร้อยละ 74.3 อยากทำให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐโปร่งใสมากขึ้น ร้อยละ 70.9 อยากเห็นการกระจายทรัพยากรให้ประชาชนครอบครองได้มากขึ้น ร้อยละ 63.6 อยากเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง และร้อยละ 21.1 ระบุอื่นๆ เช่น แยกรัฐบาลออกจากนิติบัญญัติอย่างเด็ดขาด และเกิดความรักความสามัคคีของคนในชาติ เป็นต้น

เมื่อถามถึงความจำเป็นขององค์กรอิสระ เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.9 ระบุภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังจำเป็นต้องมีองค์กรอิสระเหล่านี้อยู่ ในขณะที่ร้อยละ 15.1 ระบุ ไม่จำเป็น

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.8 เชื่อว่า หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วความขัดแย้งรุนแรงจะยังไม่จบลง ในขณะที่ ร้อยละ 16.2 เชื่อว่าจะจบลง โดยร้อยละ 41.7 ระบุการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่างๆ ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันจะมีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 32.9 ระบุเหมือนเดิม และร้อยละ 25.4 ระบุลดลง

เมื่อถามถึงทางออกของรัฐบาลภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 56.2 ระบุยุบสภาทันทีหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ ในขณะที่ร้อยละ 43.8 ยังต้องการให้ทำงานต่อไปก่อน

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทางของประเทศ ฝ่ายการเมืองต้องไม่มองว่าเป็นเรื่องความมั่นคงทางการเมืองของตนเองแต่ฝ่ายเดียว ต้องมองในสภาพแวดล้อมของการเปลี่ยนแปลงประเทศและการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย จึงเสนอมิติต่างๆ ในช่วงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้

ประการแรก ความมั่นคงทางการเมืองเป็นเรื่องจำเป็นในระบอบประชาธิปไตยเพราะการเมืองมีหน้าที่ลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนไม่ใช่ปล่อยให้มวลหมู่ประชาชนลุกขึ้นมาแก้ความขัดแย้งกันเอง ดังนั้นความมั่นคงทางการเมืองจึงต้องได้รับการพิจารณาถ่วงดุลจากองค์กรอิสระและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบฝ่ายการเมือง

คำว่า “ความมั่นคงทางการเมือง” หมายความว่า ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านได้รับความวางใจจากสาธารณชนพอๆ กัน ไม่มีใครอ่อนแอมากกว่ากันนัก ฝ่ายการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านในเวลานี้คงต้องไปศึกษาพิจารณาว่า ทำไมนโยบายสาธารณะเพื่อความดีส่วนรวม (Public Good) เช่น ไข่ชั่งกิโล โครงการไทยเข้มแข็ง และอื่นๆ ของฝ่ายตนเองในช่วงเป็นรัฐบาลจึงไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนมากเท่าไหร่นัก เพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีมากยิ่งขึ้น

ประการที่สอง สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของประเทศในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าประชาชนแต่ละกลุ่มแต่ละชนชั้นเริ่มมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ความวางใจของสาธารณชนต่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดขึ้นเป็นสำคัญ โดยรัฐบาลจะโฆษณาชวนเชื่อเพียงวาจาว่า รัฐบาลมีความโปร่งใสตรวจสอบได้จึงไม่เพียงพอ เพราะต้องมีความชัดเจนในกระบวนการ เช่น นำงบประมาณเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทมาเปิดเผยต่อสาธารณชนในลักษณะที่ทำให้แกะรอยตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำของทุกเม็ดเงินที่ใช้จ่ายไปว่ามีการโกงกันมากน้อยเพียงไร

ประการที่สาม สภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงน่าจะทำให้สาธารณชนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประเทศรอบๆ ประเทศไทยคือ ชุมชนเศรษฐกิจอาเซียน ที่ต้องพิจารณาเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่บนผืนแผ่นดินไทยที่บางเรื่องต้องเหมือนกัน เช่น การศึกษา สุขภาพ การประกอบอาชีพขั้นพื้นฐาน และหลักมนุษยธรรม แต่สิทธิบางเรื่องอาจต้องแตกต่างกัน เช่น การบริการสาธารณะ สาธารณูปโภค ความสะดวกสบายต่างๆ เป็นต้น เพราะบางทีต้องนำเรื่องการกู้เงินจากต่างชาติที่รัฐบาลทุกรัฐบาลเคยทำไว้มาร่วมพิจารณาประกอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนคนไทย และสกัดกั้นการเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในสังคมไทยที่ผลักภาระการใช้หนี้ต่างชาติให้คนไทยทั้งประเทศ

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 40.5 เป็นชาย ร้อยละ 59.5 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 4.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ และร้อยละ 3.2 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          คิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว                  89.9
2          คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว                  10.1
          รวมทั้งสิ้น                           100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันช่วยปกป้องสิทธิมนุษยชน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                               ค่าร้อยละ
1          ช่วยปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีการไตร่สวนผลกระทบต่อประชาชนจากมลพิษสิ่งแวดล้อม กากสารพิษ
           สารตะกั่ว การสูญเสียจากการชุมนุม เป็นต้น                                              69.5
2          ไม่ได้ช่วยเลย                                                                    12.2
3          ไม่ทราบ/ไม่มีความเห็น                                                             17.3
          รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ                                       ค่าร้อยละ
1          บ้านเมืองสงบสุข                                                                       91.7
2          ขจัดนักการเมืองที่ไม่ดีออกไป                                                              80.6
3          ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สิทธิได้รับการคุ้มครองแท้จริง                                              75.1
4          ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐโปร่งใสมากขึ้น                                                74.3
5          เกิดการกระจายทรัพยากรให้ประชาชนครอบครองได้มากขึ้น                                        70.9
6          เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง                                                               63.6
7          อื่นๆ เช่น แยกรัฐบาลออกจากนิติบัญญัติอย่างเด็ดขาด และเกิดความรักความสามัคคีของคนในชาติ เป็นต้น       21.1

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความจำเป็นขององค์กรอิสระ เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ     สิทธิมนุษยชน เป็นต้น
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                                 ค่าร้อยละ
1          ยังจำเป็นต้องมีองค์กรอิสระ เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. องค์กรสิทธิมนุษยชน เป็นต้น      84.9
2          ไม่จำเป็น                                                                         15.1
          รวมทั้งสิ้น                                                                         100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อคำถามที่ว่า หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ความขัดแย้งรุนแรงจะจบหรือไม่
ลำดับที่          ความคิดเห็น                              ค่าร้อยละ
1          เชื่อว่า จบ                                     16.2
2          เชื่อว่า ไม่จบ                                   83.8
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การชุมนุมประท้วงกลุ่มต่างๆ ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                              ค่าร้อยละ
1          จะมีมากขึ้น                                     41.7
2          เหมือนเดิม                                     32.9
3          ลดลง                                         25.4
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ทางออกของรัฐบาลภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                       ค่าร้อยละ
1          ยุบสภาทันทีหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ          56.2
2          ทำงานต่อไปก่อน                         43.8
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ