เอแบคโพลล์: พฤติกรรมการใช้ไลน์ของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ข่าวผลสำรวจ Thursday October 10, 2013 11:16 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม และประธานเครือข่ายวิชาการทำประชาพิจารณ์และสาธารณมติเพื่อนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดโครงการวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง พฤติกรรมการใช้ไลน์ของประชาชนกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,120 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 2 — 9 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นและประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า

กลุ่มตัวอย่างกว่าสองในสามหรือร้อยละ 68.3 ระบุใช้ไลน์ทั้งวันในการติดต่อสื่อสารในแต่ละวัน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.3 มักจะใช้ไลน์มากที่สุดในช่วงเวลาทำงาน/ช่วงเวลาเรียน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงวัตถุประสงค์หลักที่มักจะสื่อสารผ่านไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.4 มักจะใช้ไลน์เพื่อการสื่อสารเรื่องทั่วไประหว่างบุคคลหรือกลุ่ม ร้อยละ 70.0 ใช้เพื่อการติดต่อเรื่องงาน ธุรกิจ ค้าขาย เรื่องเรียน ร้อยละ 62.1 ใช้เพื่อส่งรูปภาพ / คลิปวีดีโอ และร้อยละ 53.7 ใช้แทนโทรศัพท์/ใช้โทรออนไลน์ ตามลำดับ

สำหรับปัจจัยที่เอื้ออำนวยความสะดวกจากการใช้ไลน์ พบว่า อันดับแรกได้แก่ ร้อยละ 83.7 ระบุสะดวก ง่าย และรวดเร็ว รองลงมาได้แก่ ร้อยละ 71.4 ระบุสามารถใช้เป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ร้อยละ 69.5 ระบุได้รับข้อมูล ข่าวสารมากขึ้น ร้อยละ 65.3 ระบุประหยัดค่าใช้จ่าย ร้อยละ 63.7 ระบุสามารถไตร่ตรอง คิด วิเคราะห์ก่อนพิมพ์/สื่อสารได้ และร้อยละ 54.7 ระบุทำให้มีเพื่อนมากขึ้น รักษาความสัมพันธ์ ตามลำดับ

ส่วนข้อเสียจากการใช้ไลน์ พบว่า อันดับแรกได้แก่ ร้อยละ 89.5 ระบุอาจทำให้เสียงาน เสียการเรียน แบ่งเวลาไม่ถูก เสียบุคลิก รองลงมาได้แก่ ร้อยละ 80.0 ระบุข้อมูลที่รับอาจจะไม่ใช่ความจริง ร้อยละ 76.8 ระบุมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับการซื้อมือถือ อุปกรณ์ แพ็คเกจ ร้อยละ 75.2 ระบุเสียความเป็นส่วนตัว ร้อยละ 71.6 ระบุข้อมูลที่ได้รับอาจจะไม่อัพเดท และร้อยละ 67.1 ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 เคยสื่อสารเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองผ่านไลน์ นอกจากนี้ ร้อยละ 81.5 คิดว่าการใช้ไลน์มีโอกาสส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงทางการเมือง และร้อยละ 68.5 คิดว่าผู้ใช้ไลน์ควรควบคุมการใช้ไลน์และไม่ควรพูดคุยกันในเรื่องการเมือง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 50.2 เป็นชาย ร้อยละ 49.8 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 14.6 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 24.1 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 26.4 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 24.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 10.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 60.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 39.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 33.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 22.8 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 15.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.5 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 13.6 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 2.4 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 1.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความถี่ในการใช้ไลน์ เพื่อการติดต่อสื่อสารในแต่ละวัน
ลำดับที่    ความถี่ในการใช้ไลน์                                           ค่าร้อยละ
  1      ใช้ทั้งวัน                                                     68.3
  2      บางครั้ง                                                     24.8
  3      ไม่ค่อยใช้                                                     6.9
         รวมทั้งสิ้น                                                   100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ช่วงเวลาใดบ้างที่มักจะใช้ไลน์ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่    ช่วงเวลาใดบ้างที่มักจะใช้ไลน์                                   ค่าร้อยละ
  1      ช่วงเวลาทำงาน / ช่วงเวลาเรียน                                81.3
  2      ช่วงเวลาหลังเลิกงาน / หลังเลิกเรียน                             72.4
  3      ช่วงเช้าก่อนเริ่มงาน / ก่อนเข้าเรียน                              67.9

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ วัตถุประสงค์หลักที่มักจะสื่อสารผ่านไลน์ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่    วัตถุประสงค์หลักที่มักจะสื่อสารผ่านไลน์                             ค่าร้อยละ
  1      การสื่อสารเรื่องทั่วไประหว่างบุคคล หรือกลุ่ม                         78.4
  2      การติดต่อเรื่องงาน ธุรกิจ ค้าขาย เรื่องเรียน                        70.0
  3      ส่งรูปภาพ / คลิปวีดีโอ                                         62.1
  4      ใช้แทนโทรศัพท์/ใช้โทรออนไลน์                                   53.7

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ปัจจัยที่เอื้ออำนวยความสะดวกจากการใช้ไลน์ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่    ปัจจัยที่เอื้ออำนวยความสะดวกจากการใช้ไลน์                       ค่าร้อยละ
  1      สะดวก ง่าย รวดเร็ว                                         83.7
  2      สามารถใช้เป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร                         71.4
  3      ได้รับข้อมูล ข่าวสารมากขึ้น                                     69.5
  4      ประหยัดค่าใช้จ่าย                                            65.3
  5      สามารถไตร่ตรอง คิด วิเคราะห์ก่อนพิมพ์/สื่อสารได้                   63.7
  6      ทำให้มีเพื่อนมากขึ้น รักษาความสัมพันธ์                             54.7


ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ข้อเสียจากการใช้ไลน์ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่    ข้อเสียจากการใช้ไลน์                                       ค่าร้อยละ
  1      อาจทำให้เสียงาน เสียการเรียน แบ่งเวลาไม่ถูก เสียบุคลิก            89.5
  2      ข้อมูลที่รับอาจจะไม่ใช่ความจริง                                 80.0
  3      มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับการซื้อมือถือ อุปกรณ์ แพ็คเกจ                76.8
  4      เสียความเป็นส่วนตัว                                         75.2
  5      ข้อมูลที่ได้รับอาจจะไม่อัพเดท                                   71.6
  6      ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง                                    67.1

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การสื่อสารเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองผ่านไลน์
ลำดับที่    การสื่อสารเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองผ่านไลน์                      ค่าร้อยละ
  1      เคย                                                    85.3
  2      ไม่เคย                                                  14.7
         รวมทั้งสิ้น                                               100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อความขัดแย้งที่รุนแรงทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ไลน์
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                            ค่าร้อยละ
  1      มีโอกาสส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงทางการเมือง            81.5
  2      ไม่มีผลอะไร                                             18.5
         รวมทั้งสิ้น                                              100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อผู้ใช้ไลน์ควรควบคุมการใช้ไลน์ในเรื่องการพูดคุยเรื่องการเมือง
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                            ค่าร้อยละ
  1      ผู้ใช้ไลน์ควรควบคุมการใช้ไลน์ และไม่ควรพูดคุยกันในเรื่องการเมือง    68.5
  2      ไม่ต้องทำอะไร                                           31.5
         รวมทั้งสิ้น                                              100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ