จับตา กนง.พรุ่งนี้เสียงส่วนใหญ่เชื่อโอกาสคงดอกเบี้ยสูงเก็บกระสุนใช้ยามจำเป็น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 10, 2015 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลายสำนักต่างฟันธง กนง.รอบ 11 มี.ค.มีโอกาสคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ค่อนข้างสูง แม้เงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องแต่ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด จึงขอรอเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็นกว่านี้ และอัตราดอกเบี้ยของไทยถือว่าอยู่ในระดับต่ำแล้วเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่บางสำนักมองต่างมุม เชื่อ กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% หลังเงินเฟ้อหดตัวต่อเนื่อง ส่งออกไม่เงยหัว การลดดอกเบี้ยช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลลงได้ในยามที่จำเป็นต้องกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

                    สถาบัน                        มติ กนง.        อัตราดอกเบี้ยใหม่
          ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี                   คง               2.00%
          กรุงเทพโพลล์                               คง               2.00%
          ซีไอเอ็มบี ไทย                              คง               2.00%
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                            คง               2.00%
          บล.ฟินันเซีย ไซรัส                           คง               2.00%
          บล.บัวหลวง                                ลด               1.75%
          บล.โนมูระ พัฒนสิน                           ลด               1.75%            ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

          กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 28 แห่ง จำนวน 66 คน เรื่อง"คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุม 2/2558 ของคณะกรรมการนโนยบายการเงิน(กนง)."พบว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 68.2% คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมที่ 2.00% ขณะที่มีเพียง 16.7% เท่านั้นที่คาดว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงง 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 1.75% ส่วนอีก 15.1% ตอบว่าไม่แน่ใจ
          ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินว่าที่ประชุม กนง.วันที่ 11 มี.ค.นี้ จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิมที่ 2.00% เนื่องจากมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันของไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้เงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องกัน 2 เดือนก็ตาม(ม.ค.-ก.พ.58) เพราะเงินเฟ้อที่ปรับลดลงมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงเป็นหลัก ในขณะที่ราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ยังอยู่ในภาวะปกติ
          นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันส่งสัญญาณผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนก.พ. ทำให้ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 0.7% ขณะเดียวกัน ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ก็ยังยืนอยู่ที่ 3.5% ซึ่งก็ไม่ใช่ระดับที่ต่ำจนน่ากังวล ดังนั้นจึงมองว่าความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้ กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
          ส่วนกรณีของเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ากว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค โดยมองว่ามีสาเหตุจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับสูง ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาบ้านเรามากนั้น แท้ที่จริงแล้วหากเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จะพบว่าดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเลยทีเดียว
          "การลดดอกเบี้ยในขณะนี้อาจจะช่วยแก้ปัญหาค่าเงินบาทได้ไม่มากนัก แต่กลับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวม และจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยที่มีแนวโน้มค่อยๆ ปรับสูงขึ้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงประเมินว่า กนง.จะตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุมในวันที่ 11 มี.ค.เพื่อเป็นการเก็บกระสุน เตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต" บทวิเคราะห์ระบุ
          นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่า กนง.รอบนี้จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากยังมีแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งจากเศรษฐกิจไทย การบริโภค การลงทุนการส่งออกที่ชะลอตัว ประกอบกับเงินเฟ้อที่ติดลบ รวมทั้งจากมาตรการการปรับลดดอกเบี้ยของตลาดหลักในภูมิภาคที่ส่งผลต่อสงครามค่าเงิน โดยจะต้องติดตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเงินทุนไหลออก
          ขณะเดียวกันยังเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาค รองจากสิงคโปร์ ซึ่งหากมีการปรับลดดอกเบี้ยลงหลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้เป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดภาวะฟองสบู่ได้ และมองว่า กนง.จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00% ไปจนถึงสิ้นปีนี้
          เช่นเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง.รอบนี้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ต่อเนื่อง โดยมีเหตุผลและเงื่อนไขแวดล้อมในการตัดสินใจเชิงนโยบายในครั้งนี้ที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อนหน้า โดยเฉพาะใน 3 มิติหลักด้วยกัน
          มิติแรก: เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างล่าช้ากว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/57 รวมถึงเดือนม.ค.58 ที่บ่งชี้สภาวะการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนในประเทศที่อ่อนแอ ส่วนภาคการส่งออกในเดือนม.ค.58 พลิกกลับมาหดตัว ขณะที่กลไกการเบิกจ่ายของภาครัฐ ที่เป็นความหวังสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจนั้น ก็ยังปรากฏภาพการเบิกใช้งบลงทุนที่ล่าช้ากว่าคาดมาก
          มิติที่สอง: คำถามเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกไทยเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ส่งออกกลับมาอ่อนกำลังลง สวนทางกับค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าเงินหลายสกุลในภูมิภาค ขณะที่การส่งออกไทยในปี 57 และเดือนม.ค.58 เติบโตช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค ซึ่งท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังต้องการแรงส่งเพิ่มเติม จึงทำให้มีเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนมากขึ้นเพื่อขอตัวช่วยจากการขยับอ่อนลงของค่าเงินบาท ผ่านการผ่อนปรนด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
          มิติที่สาม: การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายประเทศที่มีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยนับจากการประชุม กนง.ครั้งก่อนหน้าในวันที่ 29 ม.ค.58 นั้น ธนาคารกลางของประเทศอินโดนีเซีย และธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งธนาคารกลางยุโรป(ECB) ได้เริ่มทำการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอันเป็นส่วนสำคัญของมาตรการ QE มูลค่า 60 ล้านยูโร/เดือน ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.58 อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เริ่มส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปีนี้
          "การเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติหลักดังกล่าว ทำให้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง อาจเป็นทางเลือกที่มีน้ำหนักมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อนหน้า คงต้องยอมรับว่าหลายประเด็นปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถฝากความหวังไว้กับกลไกอัตราดอกเบี้ยแต่เพียงลำพัง" เอกสารเผยแพร่ระบุ
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้หลักการต่างๆ อีกทั้งข้อมูลความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่ปรากฎเพิ่มเติม เป็นเพียงข้อมูลเดือนแรกของปี 2558 ทำให้คาดว่ากนง.จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.0% ในการประชุมรอบนี้ เพื่อรอประเมินภาพพัฒนาการและความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะชัดเจนขึ้นอย่างถี่ถ้วนจากข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนถัดไป เพื่อสงวนเครื่องมือไว้ใช้หากจำเป็น
          ส่วน บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.00% แม้เศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นช้ากว่าคาด แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคที่ส่วนใหญ่อยู่ในทิศทางขาลง และค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าภูมิภาค เพราะเชื่อว่าการใช้กลไกดอกเบี้ยในช่วงเวลานี้จะไม่มีประสิทธิผล แต่จะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนลงและช่วยภาคส่งออกได้เท่านั้น
          อย่างไรก็ตาม มองว่าประเด็นสำคัญที่จะมีผลต่อตลาด คือ มุมมองของกนง.ต่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และแนวโน้มการปรับ GDP ในปีนี้ที่คาดไว้ที่ 4% ในวันที่ 20 มี.ค.นี้ ซึ่งหากแนวโน้มดังกล่าวเป็นไปในทางลบ จะกดดันตลาดหุ้นต่อไปอีกระยะ

*บางสำนักยังลุ้นลดดอกเบี้ย

          ทั้งนี้ ยังมีมุมมองที่แตกต่างออกไปซึ่งเป็นความเห็นจากนายวิกิจ ถิระวรรณรัตน์ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน บล.หัวหลวง ที่มองว่า กนง.รอบนี้มีโอกาสที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาสู่ระดับ 1.75% ได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.-ก.พ.58) ปรับตัวลดลง โดยในเดือนม.ค.เงินเฟ้อติดลบ 0.41% และเดือนก.พ.ติดลบ 0.52% ขณะที่หลายประเทศในภูมิภาครวมทั้งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต่างปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือยังไม่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้
          "จีนพึ่งลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทิศทางดอกเบี้ยส่วนใหญ่ในภูมิภาคปรับลดลงมาแล้ว รวมทั้งออสเตรเลีย เกาหลี ส่วนประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรปก็ยังไม่มีแนวโน้มขึ้นเร็ว ไม่มีความจำเป็นที่ต้องยืนดอกเบี้ยไว้ ทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงยังมี room ที่จะปรับลงได้สลึงนึง ดูแล้วน่าจะลดได้ ไม่มี impact อะไร" นายวิกิจ กล่าวกับอินโฟเควสท์
          พร้อมระบุว่า หากจะพิจารณาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะมาจากช่องทางในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน หรือการที่รัฐบาลต้องออกตราสารหนี้นั้น หากอัตราดอกเบี้ยยังคงทรงตัวอยู่ในระดับนี้จะทำให้มีต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นหากปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงนี้ก็จะถือว่ามีความเหมาะสม และสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
          "ถ้าดอกเบี้ยยังทรงอยู่ในระดับนี้ ต้นทุนทางการเงินที่จะเอามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็ดูจะสูงไปนิด ดังนั้นจะดีกว่าไหม ถ้าคุณต้องการยืมเงินก็ปรับช่องดอกเบี้ยลงมาหน่อย ก็จะได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง ผมว่าก็ make sense การจะลดดอกเบี้ยลงมาสักหน่อย ก็ไม่ได้เสียหายอะไร ช่วยกระตุ้นหลายๆ เรื่อง กระทรวงคลังต้องการจะรีไฟแนนซ์อะไรต่างๆ ก็ทำได้ดี หนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสูงก็รีไฟแนนซ์ได้ ผมมองเห็นข้อดีของการลดดอกเบี้ยมากกว่า" นายวิกิจ กล่าว
          เช่นเดียวกับน.ส.นุชจรินทร์ ปัณรส ผู้อำนวยการสายงานวิจัยและบริการการลงทุน(เศรษฐกิจ) บล.โนมูระ พัฒนสิน ที่คาดว่าการประชุม กนง.รอบนี้มีโอกาสจะตัดสินปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ลงมาสู่ระดับ 1.75% เนื่องจากเหตุผลสำคัญ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.การส่งออกของไทยยังน่าผิดหวัง โดยล่าสุดการส่งออกเดือนม.ค.58 ติดลบ 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) จากสหภาพยุโรป(EU) ก็จะยิ่งซ้ำเติมโครงสร้างการส่งออกของไทยให้อ่อนแอลง
          2.สภาวะการเงินที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งดูได้จากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง(Real interest rate) ที่ปรับเพิ่มขึ้นเพราะเงินเฟ้อลดลง กล่าวคือ ณ สิ้นเดือน ก.พ. Real policy rate อยู่ที่ 2.5% 3.อุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ และ 4.เงินเฟ้อที่หดตัวต่อเนื่องติดกัน 2 เดือน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ