พาณิชย์จัดทำยุทธศาสตร์และฐานข้อมูล 4 สมุนไพรนำร่องเสริมศักยภาพแข่งขัน ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 26, 2017 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการโครงการจัดทำยุทธศาสตร์และฐานข้อมูลสมุนไพรว่า สนค.ได้ว่าจ้างศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นที่ปรึกษาเพื่อประเมินศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศของผู้ผลิตและผู้ประกอบการสินค้าสมุนไพร

รวมถึงบทบาทของภาครัฐที่จะสนับสนุนและผลักดันสินค้าและผลิตภัณฑ์สู่สากล ประกอบกับนำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางให้ใช้หลักการตลาดนำการผลิต ภายใต้ยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพตลาดสมุนไพรไทย จาก 4 สมุนไพรนำร่อง ประกอบด้วย ขมิ้นชัน ไพล บัวบก และกระชายดำ

ผลการศึกษาโครงการฯ พบว่า ขมิ้นชันส่วนใหญ่ถูกส่งเข้าสู่โรงงานแปรรูป แบ่งเป็น แปรรูปขั้นต้น และในรูปสารสกัด โดยถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร 80% อุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง อย่างละ 10% ซึ่งตลอดห่วงโซ่อุปทานมีมูลค่าการซื้อขายมากถึง 6,848 ล้านบาท และปลายน้ำมีมูลค่าการซื้อขายมากถึง 5,500 ล้านบาท คืออุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ทั้งนี้ ในปี 59 มีการส่งออกทั้งหมด 12,852,200 ล้านบาท ไปยัง สหรัฐอเมริกา สวีเดน และเยอรมัน สัดส่วน 41.2% 24.6% และ 6.8% ตามลำดับ

ไพล ถูกแปรรูปเป็นไพลแผ่น และน้ำมันไพลสกัด โดยถูกใช้ในอุตสาหกรรมยา 70% เครื่องสำอางและสปา 30% ทั้งนี้อุตสาหกรรมยาส่วนใหญ่จะเป็นยาสำหรับใช้ภายนอก อาทิ น้ำมันเหลืองไพล ยาหม่องไพล และครีมไพล ซึ่งถูกใช้ในประเทศเป็นหลัก แต่มีส่งออกไปต่างประเทศบ้าง เช่น จีน อินโดนีเซีย ยุโรป เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและสปา พบว่า ลูกประคบ ถูกส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา

บัวบก ส่วนใหญ่จะทำการอบแห้งก่อนเข้าสู่การแปรรูปเป็นสารสกัด หัวเชื้อ และน้ำมัน จากนั้นจะเข้าสู่ 3 อุตสาหกรรม คือ อาหารและเครื่องดื่ม 35% ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 25% เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิว 40% การส่งออกยังอยู่ในปริมาณน้อย และส่งออกไปยัง จีน อาเซียน และยุโรป

กระชายดำ ถูกแปรรูปขั้นต้นในรูปแบบอบแห้ง และสารสกัด ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศ ได้แก่ ยา 30% และอาหาร 70% แต่บางส่วนถูกส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น และจีน ทั้งนี้อุตสาหกรรมอาหารถูกแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมยาจะแปรรูปเป็นแคปซูลมากถึง 90%

สำหรับยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการต่อไป คือ 1.การจัดการวัตถุดิบและการแปรรูป 2.การพัฒนานวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มในการแปรรูปผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานสากล 3.การสร้างโอกาสทางการตลาดสมุนไพรไทยโดยผลักดันให้เป็น New Thailand Signature 4.ยุทธศาสตร์สนับสนุน อาทิ กฎหมาย กฎระเบียบ และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ