กรมศุลฯ จัดเวทีชี้แจง-รับฟังความเห็นการดำเนินงานตามพ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่ ก่อนบังคับใช้จริง 13 พ.ย.60

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 9, 2017 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้รับการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 17 พ.ค.60 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พ.ย.60 โดยกฎหมายศุลกากรฉบับนี้ ได้สนับสนุนนโยบายหลักของรัฐบาล 3 เรื่อง คือ เรื่องแรก การอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสนับสนุนการลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย หรือ East of Doing Business ที่จะมีการลดกระบวนการและพิธีการทางศุลกากรให้มีความคล่องตัว และมีการนำระบบ IT เข้ามาสนับสนุนการทำงานมากยิ่งขึ้น

เรื่องที่สอง การสร้างความโปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร โดยประเด็นสำคัญคือ การปรับลดเงินสินบนรางวัล จากอัตรา 55% ของเงินค่าขายของกลางหรือเงินค่าปรับ เป็นอัตรา 20% สำหรับเงินสินบนที่มีการแจ้งการกระทำผิดซึ่งหน้า ที่ไม่ใช่งานเอกสาร อัตรา 20% สำหรับเงินรางวัลให้เจ้าหน้าที่ที่ตรวจพบการกระทำผิด ทั้งนี้ทั้ง 2 กรณีจะถูกกำหนดวงเงินไว้ไม่เกินคดีละ 5 ล้านบาท รวมถึงมีการลดระยะเวลาในการประเมินอากรให้เหลือ 3 ปี

เรื่องที่สาม ประเด็นสำคัญที่เน้นคือ การสนับสนุนส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนและโลจิสติกส์ในภูมิภาคโดยปรับปรุงเรื่องการจัดตั้งเขตปลอดอากรให้มีความทันสมัย คล่องตัว สะดวก รวดเร็ว ดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล การลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกสำหรับสินค้าถ่ายลำที่มาพักไว้ก่อนส่งต่อไปประเทศที่ 3 ณ ท่าเรือ และสนามบิน เพื่อส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าถ่ายลำในภูมิภาค รวมถึงสินค้าผ่านแดนที่เราจะใช้ข้อตกลงแกตต์ เป็นบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจผ่านแดนไปประเทศเพื่อนบ้านได้ไม่สะดุด

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า เพื่อให้การจัดทำและปรับปรุงอนุบัญญัติศุลกากรที่ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ฉบับนี้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและเกิดประโยชน์สูงสุด ในวันนี้กรมศุลกากรจึงจัดให้มีการชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นให้กับภาคเอกชนผู้ประกอบการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และตั้งคณะทำงานจัดทำและปรับปรุงอนุบัญญัติศุลกากร จำนวน 9 คณะ เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการจัดทำปรับปรุงอนุบัญญัติศุลกากรดังกล่าวว่ามีประเด็นไหนที่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ ควรแก้ไขปรับปรุงให้คล่องตัว และมีประเด็นไหนที่สามารถนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปเพิ่มเติมให้มีประสิทธิภาพรวดเร็วยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ