กิจกรรม Networking Session for Lower Mekong Initiative (LMI) Young Scientist Program

ข่าวต่างประเทศ Thursday April 27, 2017 17:01 —กระทรวงการต่างประเทศ

ไทยชูบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านโครงการร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ในฐานะประเทศผู้ประสานงานหลักของคณะทำงานด้านการศึกษาภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างหรือ Lower Mekong Initiative (LMI) โดยกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ร่วมกับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม Networking Session for LMI Young Scientist Program ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๗ เมษายน ๒๕๖๐ ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ (science educators) กว่า ๗๐ คน จากประเทศสมาชิก LMI ได้แก่ ไทย สหรัฐฯ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ประเทศละ ๖ – ๑๒ คน ได้สร้างเครือข่าย พบปะหารือ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ แนวคิด แนวปฏิบัติ รวมถึงความสำเร็จ อุปสรรค และการสนับสนุนที่ประสงค์จะได้รับในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของแต่ละประเทศ ในรูปแบบของการอภิปรายกลุ่มตามหัวข้อที่มีความสนใจร่วมกัน ได้แก่ (๑) สิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด (๒) ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ (๓) เกษตร วิทยาศาสตร์อาหาร และชีววิทยา (๔) วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร และ (๕) เคมีและธรณีวิทยา โดยมี ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช อดีตรองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุปันเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมหลัก

ในพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๐ นาย Glyn Davies เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นายวิชชุ เวชชาชีวะ รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ และนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) ปตท.สผ. ร่วมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างเป็นกรอบความร่วมมือที่สหรัฐฯ ริเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๒ โดยกิจกรรม Networking Session for LMI Young Scientist Program เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ บุคลากรด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจากประเทศลุ่มน้ำโขงและสหรัฐฯ ได้สร้างเครือข่ายและอภิปรายเพื่อหาหัวข้อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่มีความสนใจร่วมกัน โดยมุ่งหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาแผนและการดำเนินการวิจัยร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนควบคู่ไปกับการขยายเครือข่าย ผ่านการกระจายข่าวของผู้เข้าร่วมในปัจจุบัน ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ที่สนใจและจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ