ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2566

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 3, 2023 11:25 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนเมษายน ปี 2566

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2566 เท่ากับ 113.5 เทียบกับเดือนเมษายน 2565 ลดลงร้อยละ 1.4 (YoY) สาเหตุสำคัญจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เนื่องจากราคาวัตถุดิบ (บิลเล็ต เศษเหล็ก) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (จีน เอเชีย) ลดลง ประกอบกับประเทศจีนมีปริมาณเหล็กส่วนเกินสูง จากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้นตัวทำให้ความต้องการใช้เหล็กมีน้อย ส่งผลให้เหล็กในประเทศมีการแข่งขันสูง ขณะที่ดัชนี หมวดอื่น ๆ สูงขึ้นทุกหมวด เป็นผลจากต้นทุนวัตถุดิบ พลังงาน และค่าขนส่ง ที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งความต้องการใช้ วัสดุก่อสร้างในภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นทั้งจากโครงการภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการเปิดโครงการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 0.1 สาเหตุจากภาคการก่อสร้างชะลอตัวเล็กน้อย เนื่องจากเป็นเดือนที่มีเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาวต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ วัสดุก่อสร้างลดลง

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนเมษายน 2565 (YoY) ลดลงร้อยละ 1.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 6.4 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ วงกบหน้าต่าง บานประตู ไม้โครงคร่าว และไม้ฝา เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นทั้งวัตถุดิบ พลังงาน และการขนส่ง หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 2.7 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม ปูนฉาบสำเร็จรูป และปูนกาวซีเมนต์ ตามการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่และภาคเอกชนที่มีการเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนด้านพลังงาน (ถ่านหิน น้ำมัน) และวัตถุดิบ (แร่ยิปซั่ม หินปูน) ที่ปรับสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง คอนกรีตผสมเสร็จ และคานคอนกรีตสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นจากวัตถุดิบ (ซีเมนต์ หิน ทราย) และราคาพลังงานหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 9.6 สินค้าสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ - ผิวข้ออ้อย เมทัลชีท เหล็กตัวซี และเหล็กแผ่นเรียบดำ เนื่องจากราคาวัตถุดิบ (บิลเล็ต เศษเหล็ก) ปรับลดลง ประกอบกับประเทศจีนมีปริมาณเหล็กส่วนเกินสูง ส่งผลให้เหล็กในประเทศมีการแข่งขันสูง หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต กระเบื้องเคลือบปูพื้น และกระเบื้องยางพีวีซีปูพื้น ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ดิน หินแร่ สี วัสดุแต่งสี) และราคาพลังงาน ประกอบความต้องการใช้ในภาคก่อสร้างขยายเพิ่มขึ้นทั้งการก่อสร้างใหม่ และปรับปรุงซ่อมแซม หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 4.7 จากการสูงขึ้นของสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง เนื่องจากมีความต้องการใช้ในการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนเพิ่มขึ้น สีน้ำอะคริลิคทาภายใน - ภายนอก สีรองพื้นโลหะ และน้ำยากันซึม สูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบเคมีภัณฑ์ (ผงสี และส่วนผสมที่เป็นเคมีภัณฑ์) หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 1.5 สินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ราวจับสแตนเลส อ่างล้างหน้าเซรามิก สายน้ำดี และโถส้วมชักโครก เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบ (สแตนเลส ดินขาว) สูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของท่อพีอี ถังบำบัดน้ำเสียระบบไม่อัดอากาศ ตะแกรงกรองผง และก๊อกน้ำ เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก สแตนเลส) และความต้องการใช้เพิ่มขึ้นทั้งโครงการของภาครัฐและภาคเอกชน หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มวัสดุธรรมชาติ หิน ดิน ทราย ที่สูงขึ้นตามราคาพลังงาน และการขนส่ง รวมทั้งแหล่งผลิตมีน้อย

2. เทียบกับเดือนมีนาคม 2566 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าแต่ละหมวด ดังนี้ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดกระเบื้อง หมวดสุขภัณฑ์ และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เป็นผลจากต้นทุนสูงขึ้นทั้งพลังงาน (ถ่านหิน) และวัตถุดิบ (หินปูน แร่ยิปซั่ม) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ คือ คอนกรีตผสมเสร็จ และขอบคันคอนกรีต ตามการสูงขึ้นของวัตถุดิบ (ซีเมนต์) หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ - ผิวข้ออ้อย ท่อสแตนเลส เหล็กฉาก และเหล็กแผ่นเรียบดำ เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง (เศษเหล็ก สินแร่เหล็ก) ประกอบกับเป็นเดือนที่มีเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาวต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.6 จากการสูงขึ้นของสีน้ำอะครีลิค ทาภายใน - ภายนอก น้ำยากันซึม และซิลิโคน ตามการสูงขึ้นเคมีภัณฑ์ (กาวอะคริลิค ตัวทำละลาย ผงสี) รวมทั้งความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และงานปรับปรุงซ่อมแซม หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.3 จากการลดลงของราคายางมะตอย เนื่องจากมีการดำเนินการโครงการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ ของภาครัฐ ทำให้มีการแข่งขันสูง

3. เฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 1.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 6.9 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ วงกบหน้าต่าง ไม้โครงคร่าว ไม้พื้น บานประตู และแผ่นไม้อัด เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 4.0 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป และปูนกาวซีเมนต์ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ (หินปูน แร่ยิปซั่ม) และราคาพลังงาน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป คานคอนกรีตสำเร็จรูป ท่อระบายน้ำคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (ซีเมนต์ หิน ทราย) และต้นทุนพลังงานสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 2.4 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลม ผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เมทัลชีท เหล็กตัวซี เหล็กแผ่นเรียบดำ ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี และท่อเหล็กสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) ทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต กระเบื้องเคลือบปูพื้น กระเบื้องยางพีวีซีปูพื้น และกระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน รวมทั้งความต้องการใช้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 2.8 จากการสูงขึ้นของสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง สีน้ำอะครีลิคทาภายใน - ภายนอก สีรองพื้นโลหะ น้ำยากันซึม และสีเคลือบน้ำมัน เนื่องจากราคาวัตถุดิบเคมีภัณฑ์สูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี รวมทั้งความต้องการใช้ในการก่อสร้างโครงการภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ทั้งการก่อสร้างใหม่และปรับปรุงซ่อมแซม หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของราวจับสแตนเลส สายน้ำดี และอ่างล้างหน้า เซรามิก เนื่องจากความต้องการใช้ในการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของท่อพีอี ตะแกรงกรองผง และถังบำบัดน้ำเสียระบบไม่อัดอากาศ ตามการสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก) และราคาพลังงาน หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 2.4 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย ที่ปรับสูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และวัสดุธรรมชาติ (ดิน หิน ทราย) ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนราคาวัตถุดิบและการขนส่ง

4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2566 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2566 มีแนวโน้มหดตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือนเมษายน 2566 เป็นผลจากการชะลอตัวของราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก รวมถึงพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีส่วนลดแรงกดดัน ด้านต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูง อาจกดดันอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนของเอกชนในภาคการก่อสร้างของประเทศ ประกอบกับฐานราคาปี 2565 ที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มหดตัว

อย่างไรก็ตาม การลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตพลังงานรายสำคัญ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ตลอดจนแรงกดดันภาวะเงินเฟ้อที่คลี่คลายขึ้นเป็นลำดับ จะเป็นแรงหนุนอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ