ขอความเห็นชอบให้การประปาส่วนภูมิภาค ปรับเพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล 2 กรณี

ข่าวการเมือง Tuesday September 8, 2020 17:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินในเรื่องที่ มท. ขอปรับเพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล 2 กรณี เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ปฏิบัติงานหรือบุคคลในครอบครัวมีภาวะสุขภาพที่ดีและมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชน ดังนี้

1. ค่าธรรมเนียมแพทย์หรือค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ปฏิบัติงานกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในคลินิกพิเศษหรือคลินิกนอกเวลาของสถานพยาบาลของทางราชการมีสิทธิเบิกได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินครั้งละ 300 บาท รวมแล้วไม่เกินปีงบประมาณละ 3,600 บาท

2. ค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ปฏิบัติงานหรือบุคคลในครอบครัว กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกในสถานพยาบาลของเอกชนหรือคลินิกเวชกรรม มีสิทธิเบิกได้เท่าที่จ่ายจริงรวมแล้วไม่เกินปีงบประมาณละ 3,600 บาทต่อครอบครัว

สาระสำคัญของเรื่อง

มท. รายงานว่า

1. ปัจจุบัน กปภ. ได้ดำเนินการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ปฏิบัติงานและบุคคลในครอบครัวตามข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาค ว่าด้วยการสงเคราะห์เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่เนื่องจากข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้กำหนดสิทธิค่าธรรมเนียมพิเศษแพทย์หรือค่าบริการทางการแพทย์พิเศษ กรณีผู้ปฏิบัติงานเข้ารับการรักษาพยาบาลในคลินิกพิเศษหรือคลินิกนอกเวลาของสถานพยาบาลของทางราชการ และกรณีผู้ปฏิบัติงานหรือบุคคลในครอบครัวเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกในสถานพยาบาลเอกชนหรือคลินิกเวชกรรม กรณีเจ็บป่วยทั่วไป ทำให้ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องเลือกใช้สิทธิวันลาเพื่อเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของราชการ ซึ่งอาจส่งผลต่อเวลาการปฏิบัติงานให้ กปภ. และประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานลดลง กปภ. จึงได้จัดทำรายละเอียดการปรับเพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของ กปภ. ตามหลักเกณฑ์นัยมติคณะรัฐมนตรี (7 มีนาคม 2560) รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

หลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560

1. ความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละตำแหน่งงาน

การดำเนินการของ กปภ.

- เป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสเข้ารับการรักษาพยาบาลนอกเวลาการปฏิบัติงาน อาจส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานใช้สิทธิวันลาลดลง

- กปภ.พิจารณาปรับปรุงสวัสดิการดังกล่าวให้ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับตำแหน่ง ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 8,633 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561)

หลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560

2. สถานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง

การดำเนินการของ กปภ.

- การปรับเพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของ กปภ. มีจำนวนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของ กปภ.

หลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560

3. ผลกระทบต่อภาระงบประมาณ

การดำเนินการของ กปภ.

- กปภ. ได้มีการประมาณการค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงสวัสดิการหรือประโยชน์อื่น โดยคำนวณจากสมมติฐานประมาณการของจำนวนผู้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลระหว่างปี 2558 – 2562 ดังนี้ 1

                    รายการ                                                         ปีงบประมาณ (ล้านบาท)
                                                                            2563   2564    2565    2566     2567

1. ค่าธรรมเนียมแพทย์ฯ สำหรับผู้ปฏิบัติงาน กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในคลินิกพิเศษ
     หรือคลินิกนอกเวลาของสถานพยาบาลของทางราชการ                               1.17    1.19    1.24    1.28     1.32

2. ค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ปฏิบัติงานหรือบุคคลในครอบครัว กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาล
     ประเภทผู้ป่วยนอกในสถานพยาบาลของเอกชนฯ                                   18.87   19.31   20.01   20.71    21.42

     รวมทั้งสิ้น                                                              20.04   20.50   21.25   21.99    22.74

หมายเหตุ1 : รายละเอียดตามข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามนัยมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561


หลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560
4. ภาพรวมผลประโยชน์ตอบแทนทั้งหมดที่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจได้รับ

การดำเนินการของ กปภ.
- การปรับเพิ่มสวัสดิการดังกล่าวมิได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างค่าตอบแทนภาพรวมของบุคลากรรัฐวิสาหกิจ ทั้งในระดับภายในและภายนอก เนื่องจาก กปภ. ให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกราย และหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจบางแห่งได้ดำเนินการปรับสวัสดิการดังกล่าวไปแล้ว เช่น องค์การเภสัชกรรม การไฟฟ้านครหลวง จึงมีเหตุผลสมควรที่จะปรับเพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน

หลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560
5. ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับสิทธิตามสวัสดิการเดิมที่มีอยู่แล้ว

การดำเนินการของ กปภ.
- การปรับเพิ่มสวัสดิการดังกล่าวเป็นสวัสดิการที่ไม่มีอยู่เดิม และ กปภ. ให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกราย ไม่มีผลกระทบกับผู้ปฏิบัติงานกลุ่มใด และไม่เป็นอุปสรรคต่อระบบแรงงานสัมพันธ์ในองค์กร

ซึ่งการปรับเพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของ กปภ. ทั้ง 2 กรณี เป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายของ กปภ. ทั้งหมด ประมาณการค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 20.04 – 22.74 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของ กปภ. ในช่วงปี 2563 – 2567 (ประมาณ 3,452.36 – 3,930.24 ล้านบาท) ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.56 – 0.59 ของประมาณการกำไรสุทธิ

คณะกรรมการ กปภ. ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 และคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบให้ กปภ. ปรับเพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล 2 กรณี [ตามข้อเสนอของ มท. (กปภ.)] โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2563

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ