โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2563 ของการประปาส่วนภูมิภาค (เพิ่มเติม)

ข่าวการเมือง Monday October 12, 2020 17:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2563 ของ กปภ. (โครงการฯ ปี 2563) (เพิ่มเติม) จำนวน 6 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 11,451.56 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวได้กำหนดสัดส่วนแหล่งเงินค่าก่อสร้างที่จะดำเนินโครงการระหว่างเงินอุดหนุนรัฐบาลกับเงินกู้ภายในประเทศในสัดส่วนร้อยละ 75 : 25 และการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียใช้เงินรายได้ของการประปาส่วนภูมิภาคร้อยละ 100 โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว เนื่องจากการประปาส่วนภูมิภาคเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีความสามาถในการชำระหนี้ที่ดี

สาระสำคัญของเรื่อง

มท. โดย กปภ. รายงานว่า

1. กปภ. ได้จัดทำสรุปแผนงานโครงการฯ ปี 2563 (เพิ่มเติม) จำนวน 6 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 11,451.56 ล้านบาท เพื่อดำเนินการปรับปรุงระบบประปาทั้งระบบ โดยจะมีการก่อสร้างระบบน้ำดิบ (โรงสูบน้ำแรงต่ำ เครื่องสูบน้ำแรงต่ำวางท่อน้ำดิบ) ระบบผลิตน้ำประปา (ก่อสร้างระบบผลิตน้ำและถังน้ำใส) ระบบจ่ายน้ำ (ก่อสร้างโรงสูบน้ำแรงสูง วางท่อส่งน้ำ ? ท่อจ่ายน้ำ) และดำเนินการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียในระบบผลิตจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 และครั้งที่ 8/2562 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 มีมติเห็นชอบโครงการฯ ปี 2563 (เพิ่มเติม) ดังกล่าวแล้ว

2. โครงการฯ ปี 2563 (เพิ่มเติม) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

2.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิตระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ที่ประสบปัญหาให้สามารถบริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างพอเพียง รวมทั้งเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคตลอดจนเพื่อบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียในระบบผลิต ? จ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย

2.2 เป้าหมายของโครงการและวงเงินลงทุน : ทั้ง 6 โครงการจะมีระบบผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นอีก 216,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้มีน้ำสูญเสียไม่เกินร้อยละ 20 และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้น 97,100 ราย โดยใช้วงเงินลงทุน จำนวน 11,451.56 ล้านบาท

2.3 แผนการดำเนินงาน สรุปได้ ดังนี้

แผนงานฯ สาขา เพชรบูรณ์-หล่มสัก

แผนงานก่อสร้าง วงเงิน 1,345.92 ล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 7 ปี ประกอบด้วย

  • ระยะที่ 1 เช่น ก่อสร้างโรงสูบน้ำแรงต่ำแบบแพสูบน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ก่อสร้างสถานีจ่ายน้ำน้ำชุน (แห่งใหม่) และสถานจ่ายน้ำชอนไพร (แห่งใหม่) เป็นต้น
  • ระยะที่ 2 เช่น ก่อสร้างสถานีผลิตน้ำห้วยน้ำก้อ (แห่งใหม่) ปรับปรุงสถานีจ่ายน้ำสำนักงาน กปภ. สาขาหล่มสัก เป็นต้น

แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย วงเงิน 221.95 ล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 4 ปี ประกอบด้วย งานจ้างบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย (กปภ. ดำเนินการเอง) โครงการปรับปรุงเส้นท่อ และงานมาตรวัดน้ำ (เปลี่ยน/ล้างมาตรวัดน้ำ)

แผนงานฯ สาขาเดิมบางนางบวช

แผนงานก่อสร้าง วงเงิน 203.79 ล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3 ปี ในการก่อสร้างระบบผลิตน้ำขนาด 300 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมงโดยใช้แหล่งน้ำดิบจากแม่น้ำท่าจีน (แหล่งน้ำเดิม)

แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย วงเงิน 49.62 ล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 8 ปี เช่น งานจ้างเหมาเดินสำรวจท่อแตก ? รั่วพร้อมค่าซ่อมท่อ งานปรับปรุงเส้นท่อ/เปลี่ยนท่อใหม่แทนท่อเดิม เป็นต้น

แผนงานฯ สาขาสมุทรสาคร-นครปฐม

แผนงานก่อสร้าง วงเงิน 8,894.71 ล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 8 ปี ประกอบด้วย

  • ระยะที่ 1 ก่อสร้างระบบผลิตน้ำเพิ่ม 10,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ในการปรับปรุงและก่อสร้างระบบผลิตน้ำใหม่ โดยใช้แหล่งน้ำดิบจากแม่น้ำแม่กลอง
  • ระยะที่ 2 ก่อสร้างระบบผลิตน้ำใหม่เพิ่มเติม 8,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง โดยใช้แหล่งน้ำดิบจากแม่น้ำแม่กลอง

แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญสีย วงเงิน 457.09 ล้านบาทโดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 6 ปี ประกอบด้วย การจ้างบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียและโครงการปรับปรุงเส้นท่อ

แผนงานฯ สาขาด่านช้าง

แผนงานก่อสร้าง วงเงิน 182.77 ล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 4 ปี ในการก่อสร้างโรงสูบน้ำแรงต่ำแบบแพสูบน้ำ วางท่อส่งน้ำดิบระยะทางประมาณ 4.5 กิโลเมตร และก่อสร้างระบบผลิตน้ำขนาด 250ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง

แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย วงเงิน 19.70 ล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 5 ปี เช่น งานเดินสำรวจท่อแตก ? รั่วพร้อมค่าซ่อมท่อ งานปรับปรุงเส้นท่อ/เปลี่ยนท่อใหม่แทนท่อเดิม เป็นต้น

แผนงานฯ สาขา อบต.ท่าเรือ

แผนงานก่อสร้าง วงเงินงบประมาณ 42.96 ล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3 ปี โดยเป็นการถ่ายโอนภารกิจการประปา อบต.ท่าเรือ ให้กับ กปภ.

แผนงานฯ สาขาเทศบาลตำบลการะเกด

แผนงานก่อสร้าง วงเงินงบประมาณ 33.05 ล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3 ปี โดยเป็นการถ่ายโอนภารกิจการประปาเทศบาลตำบลการะเกด ให้กับ กปภ.

2.4 ความพร้อมด้านที่ดิน

แผนงานฯ สาขาเพชรบูรณ์-หล่มสัก

มีการขอเช่าที่ราชพัสดุจังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อก่อสร้าง ดังนี้
  • สถานีจ่ายน้ำน้ำชุน ซึ่งอยู่ระหว่างประสานงานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบูรณ์เขต 2 เพื่อดำเนินการส่งที่ดินคืนกรมธนารักษ์
  • สถานีจ่ายน้ำนางั่ว ซึ่งอยู่ระหว่างกรมธนารักษ์กำหนดค่าเช่าที่ดิน
  • สถานีจ่ายน้ำชอนไพร ซึ่งอยู่ระหว่างกรมธนารักษ์ดำเนินการรังวัดที่ดิน
  • สถานีผลิตน้ำห้วยน้ำก้อ ซึ่งอยู่ระหว่างประสานงานกับโครงการชลประทานเพชรบูรณ์ (ผู้ใช้ประโยชน์ปัจจุบัน)
แผนงานฯ สาขาเดิมบางนางบวช

มีการขอใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์บริเวณตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อก่อสร้างสถานีจ่ายน้ำหัวเขา ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการขอถอนสภาพใช้ที่สาธารณประโยชน์

แผนงานฯ สาขาสมุทรสาคร-นครปฐม

มีการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่ของจังหวัดราชบุรี/นครปฐม/สมุทรสาคร (รวม 5 แปลง) เพื่อก่อสร้างสถานีสูบน้ำดิบ/สถานีผลิตน้ำ/สถานีเพิ่มแรงดัน/สถานีจ่ายน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อที่ดิน และขอเช่าที่ดินโรงเรียนโสภณาราม จังหวัดสมุทรสาคร (1 แปลง) เพื่อก่อสร้างสถานีจ่ายน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างตกลงราคาค่าเช่า

แผนงานฯ สาขาด่านช้าง/อบต. ท่าเรือ /เทศบาลตำบลการะเกดมีความพร้อมด้านที่ดิน เนื่องที่ใช้ที่ดินเดิม

2.5 ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม : จากการตรวจสอบ พบว่า ทั้ง 6 โครงการไม่เข้าข่ายประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) แต่อย่างไรก็ตาม กปภ. ได้ทำการตรวจประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ซึ่งจากการตรวจประเมินดังกล่าว สรุปผลได้ว่า มีผลกระทบในระยะก่อสร้างโครงการน้อยและไม่มีผลกระทบในระยะดำเนินการ และเพื่อให้การดำเนินโครงการส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่น้อยที่สุด กปภ. จึงได้จัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นในด้านต่าง ๆ เช่น เสียงและคุณภาพน้ำผิวดิน เป็นต้น

2.6 แผนความเสี่ยงและการติดตามประเมินผล : กปภ. แบ่งการวิเคราะห์ความเสี่ยงของโครงการออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ ความเสี่ยงในขั้นการกำหนดโครงการ (ก่อนการจัดทำโครงการ) พบว่า อยู่ในระดับปานกลางและความเสี่ยงในขั้นการจัดทำแผนงานโครงการ (ระหว่างการจัดทำโครงการ) พบว่า อยู่ในระดับน้อย สำหรับการติดตามประเมินผล กปภ. มีกระบวนการควบคุมคุณภาพการปฏิบัติงานและการประเมินผลการดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยง โดยมีการตรวจสอบการดำเนินงานในทุกช่วงเวลา โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาและกำหนดระดับความเสี่ยงตามมาตรฐานสากล ส่วนการประเมินผลโครงการ พบว่า มีจำนวนผู้ใช้น้ำเพิ่มสูงกว่าเป้าหมายทุกปี โดยจะมีการตรวจประเมินผลประจำปี รวมถึงการประชุมติดตามความก้าวหน้าเป็นประจำทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 ตุลาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ