สภาเห็นชอบตัดงบดีอีเอส 72 ลบ. ก้าวไกล รุมสับศูนย์เฟคนิวส์-ศูนย์ต้านอาชญากรรมออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ

ข่าวการเมือง Thursday March 21, 2024 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วันที่สองของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 2 และ 3 เริ่มที่มาตรา 16 กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหน่วยงานในสังกัด โดยสส.พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายขอตัดงบในส่วนกรมอุตุนิยมวิทยา การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม หรือ "ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม" โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตัดงบกระทรวงดีอีเอส 72 ล้านบาท ตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก

*ขอตัดงบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ชี้ไม่เป็นกลาง เป็นเพียงเครื่องมือรัฐ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายขอขอตัดงบประมาณศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม หรือ "ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม" ทั้งโครงการจำนวน 69.57 ล้านบาท โดยระบุว่า จากผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในเดือนกันยายน 2566 ที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของศูนย์ฯ ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ คนใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้รับข้อมูลสำหรับการตรวจสอบทั้งหมด 5.47 ล้านข้อความ โดยส่วนใหญ่ได้มาจากการใช้เครื่องมือกวาดข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และมีบางส่วนได้มาจากการรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ฯ เช่น เฟซบุ๊ก และไลน์ โดยได้คัดกรองจนเหลือจำนวนเรื่องที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งสิ้น 539 เรื่อง จากนั้นจึงส่งเรื่องไปยังหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งสุดท้ายได้รับการตรวจสอบกลับมา 356 เรื่อง แต่สามารถ "เผยแพร่ได้" เพียง 235 เรื่องเท่านั้น

ตามหลักสากล หลักการสำคัญที่สุดขององค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริง คือ ความเป็นกลาง และความเป็นอิสระ แต่เมื่อลองมาดูตัวอย่างข่าวที่หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่ ก็จะเห็นว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไม่ได้มีความเป็นอิสระจริง แต่เป็นแค่เพียงเครื่องมือของรัฐบาลเท่านั้น

  • ตัวอย่างที่ 1 จากข่าวที่ปรากฏว่า ครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้านบาทจริงหรือไม่ เมื่อศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมตรวจสอบไปที่กรมประชาสัมพันธ์ กลับได้รับคำชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวจริง แต่ไม่ประสงค์เผยแพร่ เพราะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล
  • ตัวอย่างที่ 2 จากข่าวที่ว่าทำเนียบรัฐบาลใช้งบประมาณในการจัดซื้อยางรถยนต์ 8 เส้น ราคา 3.4 ล้านบาท กรมประชาสัมพันธ์ ระบุว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวจริง แต่ไม่ประสงค์เผยแพร่ เพราะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลเช่นเดียวกัน

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า สิ่งนี้ทำให้ตนหายสงสัย ว่าทำไมศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ถึงตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานราชการเท่านั้น เพราะตลอดเวลาตั้งแต่ตั้งศูนย์ฯ แห่งนี้ขึ้นมา การส่งเรื่องไปให้หน่วยงานราชการ ไม่ใช่การขอให้ตรวจสอบ แต่คือการขออนุญาตว่าหน่วยงานราชการจะยอมให้เผยแพร่หรือไม่เท่านั้น เมื่อหน่วยงานว่าอย่างไร ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็มีหน้าที่แค่ทำไปตามนั้น

"นี่คือหลักฐานที่ชัดเจนที่สุด ว่าตลอด 4 ปี 5 เดือนตั้งแต่ก่อตั้งมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่เคยมีความเป็นกลาง ไม่เคยมีความเป็นอิสระ เป็นแค่เครื่องมือของรัฐในการผูกขาดความจริง แบบที่รัฐอยากให้ประชาชนรู้ และปกปิดความจริงที่รัฐไม่อยากให้ประชาชนเห็นเท่านั้น และผมยืนยันว่าโครงการแบบนี้ ไม่ควรได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
*ตัดงบกรมอุตุนิยมวิทยา หลังพบจัดซื้อแพงเกินจริง

นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ระบุว่า งบประมาณในส่วนกรมอุตุนิยมวิทยาในปีนี้ถูกปรับลด 19 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดของโครงการที่เกี่ยวกับ PM 2.5 ตามเอกสารตั้งโครงการระบบตรวจวัดชั้นบรรยากาศใกล้ผิวโลกและวัดฝุ่นละออง PM 2.5 จำนวน 1 ระบบ โดยมีการตั้งเป็นงบผูกพันในปี 68 ด้วย รวมแล้วระบบนี้จะมีมูลค่า 127,223,000 บาท อีกทั้งยังพบความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องมือในโครงการที่มีราคาแพงเกินจริงอีกด้วย

*ตัดงบศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ ไร้ประสิทธิภาพ

น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ขอเสนอปรับลดงบศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ ที่แม้ว่าจะมีสายด่วน 1441 ที่เอาไว้แจ้งมิจฉาชีพ แต่ก็มีสายด่วนของหน่วยงานอื่นอีกมาก เช่น 1599 แต่ประชาชนจำไม่ได้ พอไปถามเจ้าหน้าที่ก็โยนงานข้ามกันไปมาว่าสายด่วนไหนจริง สายด่วนไหนปลอม โดยมองว่าหากมัดรวมงบแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ได้จะประหยัดงบไปได้มาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ