Spotlight: UN ออกรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัว 2.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 17, 2020 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Situation and Prospects หรือ WESP) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัว 2.5% ในปี 2563 แต่ความตึงเครียดด้านการค้า, ความปั่นป่วนด้านการเงิน หรือความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายตัว อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ส่วนแนวโน้มขาลงนั้น รายงานของ UN ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงสู่ระดับเพียง 1.8% ในปีนี้ โดยกิจกรรมเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงเป้าหมายในการขจัดความยากจนและการสร้างงาน ในขณะเดียวกัน ความไม่เท่าเทียมในวงกว้างและวิกฤตสภาพอากาศที่รุนแรงกำลังทำให้เกิดความไม่พอใจเพิ่มขึ้นในหลายๆส่วนของโลก

นอกจากนี้ รายงานของ UN ยังระบุว่า เศรษฐกิจโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านการค้าที่ยืดเยื้อนั้น มีการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดยชะลอลงสู่ระดับ 2.3% ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกอาจกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในปี 2563 หากสามารถควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ได้

เอเชียตะวันออกนำการขยายตัว

รายงานของ UN ระบุว่า ในสหรัฐนั้น การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นแรงหนุนบางส่วนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องในด้านนโยบาย, ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่อ่อนแอ และมาตรการกระตุ้นด้านการคลังที่ลดลง ทำให้คาดว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐ จะชะลอลงสู่ระดับ 1.7% ในปี 2563 จากระดับ 2.2% ในปี 2562

ส่วนในสหภาพยุโรป (EU) นั้น การผลิตจะยังคงถูกสกัดกั้นจากความไม่แน่นอนทั่วโลก แต่ก็จะได้รับการชดเชยบางส่วนจากการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของ GDP ขยับขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.6% ในปี 2563 จาก 1.4% ในปี 2562

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออก แม้จะเผชิญกับอุปสรรคสำคัญต่างๆ แต่เอเชียตะวันออกก็ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก และมีส่วนสนับสนุนมากที่สุดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

ส่วนในจีนนั้น คาดว่าการขยายตัวของ GDP จะชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับ 6.0% ในปี 2563 จากระดับ 6.1% ในปี 2562 และจะขยายตัว 5.9% ในปี 2564 โดยรัฐบาลจีนจะยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายมากขึ้น

ขณะที่การขยายตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่อื่นๆ อาทิ บราซิล, อินเดีย, เม็กซิโก, รัสเซีย และตุรกีนั้น คาดว่าจะกระเตื้องขึ้นในปี 2563

มาตรฐานการครองชีพที่ย่ำแย่ในหลายประเทศ

รายงานระบุว่า ความคืบหน้าในการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพให้ดีขึ้นนั้นได้หยุดชะงักในหลายๆ ประเทศ

แอฟริกาเผชิญกับการขยายตัวของ GDP ต่อหัวที่เกือบชะงักงันมานานนับ 10 ปี และประเทศจำนวนมากทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำในช่วงปี 2557-2559 ซึ่งทำให้ผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง และขัดขวางการลดความยากจน

โดย 1 ใน 3 ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ (ซึ่งมีประชากรราว 870 ล้านคน) นั้น มีรายได้แท้จริงโดยเฉลี่ยลดลงในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับในปี 2557 ซึ่งประเทศเหล่านี้รวมถึงประเทศขนาดใหญ่หลายแห่ง อาทิ แองโกลา, อาร์เจนตินา, บราซิล, ไนจีเรีย, ซาอุดิอาระเบีย และแอฟริกาใต้

ในขณะเดียวกัน จำนวนประชาชนที่อยู่ในภาวะยากจนรุนแรงได้เพิ่มขึ้นในหลายประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราของแอฟริกา และในบางส่วนของละตินอเมริกาและเอเชียตะวันตก โดยความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการลดความยากจนนั้น จะต้องอาศัยทั้งการส่งเสริมการขยายตัวของประสิทธิภาพการผลิต และความมุ่งมั่นอย่างจริงจีงที่จะจัดการกับความไม่เท่าเทียมในระดับสูง

UN ประมาณการว่า ในการลดความยากจนในแอฟริกานั้น การขยายตัวของรายได้ต่อหัวประชากรต่อปีจะต้องมากกว่า 8% เมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ยเพียง 0.5% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

แนวโน้มที่มืดมน

รายงานของ UN ระบุว่า การขยายตัวของ GDP โดยรวมนั้นยังคงขาดแง่มุมที่สำคัญในด้านความต่อเนื่อง และการกินดีอยู่ดี

นอกเหนือจากการขยายตัวของ GDP นั้น มาตรการอื่นๆ ในการส่งเสริมการกินดีอยู่ดี บ่งชี้ถึงแนวโน้มที่มืดมนลงในหลายพื้นที่ของโลก ขณะที่วิกฤตสภาพอากาศ, ความไม่เท่าเทียมในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และระดับความไม่มั่นคงด้านอาหารที่เพิ่มขึ้น รวมถึงภาวะทุพโภชนาการนั้น ยังคงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในหลายๆ สังคม

"ผู้กำหนดนโยบายควรดำเนินการ มากกว่าการให้ความสำคัญเพียงการส่งเสริมการขยายตัวของ GDP และมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการกินดีอยู่ดีในทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งต้องอาศัยการให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการลงทุนในโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษา, พลังงานทดแทน และสาธารณูปโภค" นายเอลเลียตต์ แฮร์ริส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และผู้ช่วยเลขาธิการเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของ UN เปิดเผยในการแถลงข่าว

รายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงส่วนผสมด้านพลังงาน ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

เพื่อต่อสู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้น ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกต้องอาศัยแหล่งพลังงานทดแทนหรือพลังงานที่มีคาร์บอนต่ำ โดยต้องทำการปรับเปลี่ยนอย่างมากในภาคพลังงานซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

หากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากรในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นสู่ระดับของประเทศพัฒนาแล้ว การปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 250% เมื่อเทียบกับเป้าหมายทั่วโลกที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงเหลือ 0% ภายในปี 2593

ความเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานยังคงถูกประเมินต่ำเกินไป ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ขาดวิสัยทัศน์ อาทิ การขยายการลงทุนในด้านการสำรวจน้ำมันและก๊าซ และการผลิตไฟฟ้าพลังถ่านหิน ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้นักลงทุนและรัฐบาลจำนวนมากต้องเผชิญกับการขาดทุนอย่างฉับพลันเท่านั้น แต่ยังเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

รายงานระบุว่า ความล่าช้าใดๆ ในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานนั้น อาจเพิ่มค่าใช้จ่ายในท้ายที่สุดขึ้นถึงสองเท่า โดยการเปลี่ยนแปลงไปใช้ส่วนผสมพลังงานที่สะอาดขึ้นไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่ยังเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับหลายๆ ประเทศด้วย

การพึ่งพานโยบายการเงินมากเกินไป

"การพึ่งพานโยบายการเงินมากเกินไป" นอกจากจะไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว แต่ยังลงเอยด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนมาก รวมถึงทำให้เกิดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินมากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการผสมผสานนโยบายที่สมดุลมากขึ้น โดยประกอบด้วยนโยบายกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงนโยบายการมีส่วนร่วมทางสังคมมากขึ้น, ความเท่าเทียมทางเพศ และการผลิตที่ยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

"ท่ามกลางความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการขยายตัวที่ไม่ครอบคลุมนั้น ได้มีการเรียกร้องให้ทำการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก โดยจำเป็นต้องให้ความใส่ใจมากขึ้นกับการกำหนดนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการกระจายผลผลิตและสิ่งแวดล้อม" นายแฮร์ริสกล่าวในการแถลงข่าว สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ