In FocusG20 และ APEC เวทีเศรษฐกิจหรือการเมือง?

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 15, 2022 10:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในสัปดาห์นี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับบทเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสำคัญสองรายการไล่เลี่ยกันได้แก่ การประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. และการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. โดยการประชุมระดับผู้นำเอเปคจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. และการประชุมเอเปคครั้งนี้เป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

ในห้วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อพุ่งสูง ภาวะโลกร้อน สถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่สิ้นสุด ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ทั่วโลกต่างหวังให้ผู้นำของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ได้ใช้เวทีเหล่านี้ในการพบปะพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การประชุมเหล่านี้ซึ่งเดิมทีจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ จึงกลายเป็นเวทีการเมืองของประเทศมหาอำนาจไปโดยปริยาย

*สี-ไบเดน พบหน้ากันครั้งแรก

ทั่วโลกต่างจับตาการพบกันระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน กับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปธน.ไบเดนเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อเดือนม.ค. 2564 หลังจากที่ทั้งคู่เคยพูดคุยผ่านวิดีโอและโทรศัพท์มาแล้ว 5 ครั้ง โดยผู้นำทั้งสองได้พบกันเมื่อวานนี้ (14 พ.ย.) หรือหนึ่งวันก่อนที่การประชุม G20 จะเปิดฉากขึ้น ในระหว่างการประชุมนาน 3 ชั่วโมง จีนได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในประเด็นไต้หวัน โดยปธน.สีกล่าวต่อปธน.ไบเดนว่า ประเด็นไต้หวันถือเป็น "แก่น" ของผลประโยชน์หลักของจีน และเป็น "เส้นแดงเส้นแรก" ที่สหรัฐไม่อาจล้ำเส้นได้ ด้านปธน.ไบเดน กล่าวว่า สหรัฐยังคงยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับจุดยืนต่อไต้หวัน นอกจากนั้น ยังเตรียมส่งนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เดินทางไปเยือนจีนเพื่อสานต่อการเจรจาทวิภาคี โดยอาจมีขึ้นในช่วงต้นปี 2566

*ปูติน-เซเลนสกี อาจร่วมประชุมออนไลน์

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้ก่อให้เกิดวิกฤตอาหารและพลังงานในระดับโลก ซึ่งสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อการประชุม G20 ครั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนมิ.ย. ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ปฏิเสธแรงกดดันจากนานาชาติที่ให้แบนรัสเซียจากการประชุม G20 ทั้งยังเดินทางไปรัสเซียและยูเครนเพื่อเชิญผู้นำทั้งสองประเทศให้มาพูดคุยกันในการประชุม ถึงแม้ว่ายูเครนจะไม่ใช่สมาชิก G20 ก็ตาม แต่ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุม ขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ก็ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมด้วยตัวเอง และส่งนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาเข้าร่วมการประชุมแทน แม้ว่าคู่นี้จะไม่ได้มาเจอกันตัวต่อตัว แต่สำนักข่าว RIA ของทางการรัสเซียรายงานว่า ปธน.ปูตินอาจเข้าร่วมการประชุมผ่านทางออนไลน์ ส่วนโฆษกของประธานาธิบดียูเครนก็เปิดเผยว่า นายเซเลนสกีอาจเข้าร่วมการประชุมออนไลน์เช่นกัน

*จีนครองสปอตไลต์การประชุมเอเปค

เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม G20 ที่บาหลี ปธน.สี จิ้นผิง จะเดินทางมาร่วมการประชุมเอเปคที่ประเทศไทย ส่วนปธน.ไบเดนมอบหมายให้นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี มาร่วมการประชุมแทน ขณะที่ปธน.ปูตินก็ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมเช่นกัน และส่งนายอันเดรย์ เบโลอูซอฟ รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เข้าร่วมการประชุมแทน ดังนั้นสปอตไลต์จะส่องมาที่ปธน.สี จิ้นผิงอย่างเต็มที่แน่นอน นักวิเคราะห์มองว่าผู้นำสหรัฐคิดผิดที่ปล่อยให้จุดสนใจไปอยู่ที่ผู้นำจีนเพียงคนเดียว แถมยังทำให้เกิดความรู้สึกว่าสหรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่ากับจีน เพราะปธน.ไบเดนเลือกไปงานแต่งงานของหลานสาวแทนที่จะเข้าร่วมการประชุมเอเปค แม้ว่าเขาจะเข้าร่วมการประชุม G20 ที่บาหลี แต่การประชุมเอเปคมีความเกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้มากกว่า การที่สหรัฐซึ่งเป็นประเทศห่างไกลทำตัวห่างเหินแบบนี้ ยิ่งเปิดโอกาสให้จีนที่อยู่ใกล้กว่าขยายอิทธิพลในภูมิภาคได้ง่ายขึ้น

ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ คาดว่าปธน.สี จิ้นผิง จะกล่าวสุนทรพจน์ที่เน้นย้ำถึงความร่วมมือและการเติบโตร่วมกันของทั่วทั้งภูมิภาคและทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับในรายงานที่นำเสนอในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ที่ผู้นำจีนได้เน้นย้ำว่า จีนยึดมั่นในนโยบายต่างประเทศที่มุ่งส่งเสริมสันติภาพของโลกและการพัฒนาร่วมกันมาโดยตลอด และอุทิศตนเพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ

ความจริงแล้วทั้งการประชุม G20 และเอเปคต่างก็เป็นเวทีเศรษฐกิจที่ไม่ควรมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มีกระแสคาดการณ์ว่าหลายชาติอาจนำความไม่พอใจที่มีต่อรัสเซียมาลงในการประชุม G20 โดยอาจมีการเดินออกจากที่ประชุม และคาดว่าอาจไม่มีการถ่ายรูปหมู่ของบรรดาผู้นำที่เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งจะไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุม หลังจากที่ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมในการประชุมรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีต่างประเทศ G20 ก่อนหน้านี้

ย้อนกลับไปในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคเมื่อเดือนพ.ค. ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ก็เกิดเหตุการณ์ผู้แทนจาก 5 ประเทศวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุมระหว่างที่ผู้แทนรัสเซียกำลังกล่าวถ้อยแถลง ทำให้ต้องมีการออกแถลงการณ์ของประธาน (Chairman Statement) แทนการออกแถลงการณ์ร่วม ต่อมาในการประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปคในเดือนต.ค. ก็ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม เนื่องจากยังมีความเห็นต่างในประเด็นรัสเซีย-ยูเครน จึงออกเป็นแถลงการณ์ของประธานเช่นกัน และสำหรับการประชุมผู้นำเอเปคที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ก็อาจลงเอยในลักษณะเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ