รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2 - 6 กรกฎาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 10, 2018 14:12 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มิ.ย. 61 เท่ากับ 108.1 ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 61 มียอดคงค้าง 17.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 61 มียอดคง ค้าง 19.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน พ.ค. 61 เกินดุล 958.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน มิ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดขายรถยนต์ของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 61 หดตัว ร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือนมิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 53.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ามันที่ปรับตัวลดลง รวมถึงสินค้าประเภทผักและผลไม้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาล ทำให้ปริมาณผลผลิตผลไม้สดหลายชนิดออกสู่ตลาดพร้อมกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาน้ำมันและอาหารสด พบว่ายังมีทิศทางทรงตัวที่ร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ปรับเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสแรกที่อยู่ที่ร้อยละ 0.6

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มิ.ย. 61 เท่ากับ 108.1 ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดซีเมนต์ที่สูงขึ้นร้อยละ 3.6 ดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้นร้อยละ 15.5 ทั้งนี้ ไตรมาส 2 ของปี 61 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.6

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 61 มียอดคงค้าง 17.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้น เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.2

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 61 มียอดคงค้าง 19.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ทรงตัวที่ร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.3

Economic Indicators: This Week

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน พ.ค. 61 เกินดุล 958.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 1,363.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุล -1,736.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามฤดูกาลส่งกลับรายได้และเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ และรายรับการท่องเที่ยวที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม ดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุล 2,694.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามรายรับจากการส่งออกที่ขยายตัวดี ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 61 เกินดุล 17,281.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน มิ.ย. 61 มีจำนวน 193,143 คัน คิดเป็นการหดตัว ร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 0.9 ซึ่งเป็นการขยายตัวในเขต กทม. ร้อยละ 4.4 ในขณะที่เขตภูมิภาคหดตัวร้อยละ -2.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 61 ปริมาณรถจักรยานยนต์หดตัวที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดขายรถยนต์ เดือน พ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายรถยนต์นั่งที่หดตัวร้อยละ -14.4 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 60.2 จุด สูงสุดในรอบ 4 เดือน จากดัชนีหมวดการส่งสินค้าของผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ และดัชนี PMI ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 59.1 จุด สูงสุดในรอบ 4 เดือนจากดัชนีหมวดการสั่งซื้อสินค้าใหม่และกิจกรรมทางธุรกิจเป็นหลัก

Japan: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 53.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าจากดัชนีหมวดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ชะลอลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 59 ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.4 จุด จากดัชนีหมวดการจ้างงานที่ขยายตัวชะลอลง

China: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 51.1 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนโดยดัชนีหมวดผลผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่เร่งตัวขึ้นขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ (Caixin) อยู่ที่ระดับ 53.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยดัชนีหมวดธุรกิจใหม่และการจ้างงานมีการขยายตัวดีขึ้นส่งผลให้ดัชนีฯ รวมในเดือนเดียวกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.0 จุด

Eurozone: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากราคาสินค้าหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้น ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 54.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากการชะลอตัวลงของผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 55.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.8 จุด จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนธุรกิจใหม่ ทำให้ดัชนี PMI รวมอยู่ที่ระดับ 54.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.1 จุด จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตและธุรกิจใหม่โดยเฉพาะภาคบริการ อัตราการว่างงานเดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 8.4 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยอัตราการว่างงานในเยอรมนีและฝรั่งเศสทรงตัวขณะที่ในอิตาลีและสเปนปรับลดลง ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากยอดขายหมวดสินค้าที่ไม่ใช่อาหารชะลอตัวลง

UK: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 54.4 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากสัญญาณผสมของปริมาณผลผลิตที่ลดลงกับราคาขายที่เพิ่มขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการอยู่ที่ระดับ 55.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.0 จุด จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานใหม่ และดัชนี PMI ภาคก่อสร้างอยู่ที่ระดับ 53.1 จุดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.5 จุดจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 55.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.5 จุด

Taiwan: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 54.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากดัชนีหมวดผลผลิตที่ขยายตัวดีและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน โดยราคาอาหารหดตัวร้อยละ -0.1

Hong Kong: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 12.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากยอดขายหมวดเชื้อเพลิง อาหารและเครื่องดื่ม และเครื่องนุ่งห่มขยายตัวได้ดีดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 47.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.8 เนื่องจากหมวดผลผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ยังหดตัวต่อเนื่อง

South Korea: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออกเดือน มิ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ EU จีน และญี่ปุ่น ที่ชะลอตัวลงในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 10 ส่งผลให้เกินดุลการค้า 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.8 จุด จากยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่สำหรับส่งออกที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 ทรงตัวที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคาอาหารขยายตัวชะลอลง

Australia: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 9.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกอาหารที่หดตัวและสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 12.9 จากการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวชะลอลง ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1.5 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายหมวดอาหารและห้างสรรพสินค้าขยายตัวเร่งขึ้น เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 61 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 23

ASEAN: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 51.0 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.4 จุด โดยดัชนีฯ ของเกือบทุกประเทศเพิ่มขึ้น ยกเว้นเมียนมาที่ทรงตัวและมาเลเซียที่ปรับลดลง

Malaysia: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหมวดน้ำมันจากสัตว์และพืช วัตถุดิบ และเครื่องดื่มที่หดตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.1 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดสินค้าน้ำมันสัตว์และพืช อาหาร และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่หดตัวส่งผลให้เกินดุลการค้า 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

India: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.2 จุดจากหมวดผลผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.6 จุด จากธุรกิจใหม่ที่ขยายตัวเร่งขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนปรับลดลงช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 6 ก.ค. 61 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,601.42 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 2-6 ก.ค. 61 ที่ 55,201 ล้านบาทต่อวัน จากแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ โดยการปรับตัวลดลงของดัชนี SET ในสัปดาห์นี้สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย อาทิ CSI300 (จีน) Nikkei225 (ญี่ปุ่น) และ PSEi (ฟิลิปปินส์) โดยสาเหตุหลักมาจากความกังวลผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2-6 ก.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -8,820.74 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะกลางปรับเพิ่มขึ้น 0-4 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วันมีผู้สนใจเพียง 0.60 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 2-6 ก.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -3,113.22 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 6 ก.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 33.22 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ -0.45 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิ เยน ริงกิต และหยวน ขณะที่เงินยูโร วอน และดอลลาร์สิงคโปร์ แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักหลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.46

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ