รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 25 - 29 มีนาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 1, 2019 16:25 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.พ. 62 ปี งปม. 62 ขยายตัวร้อยละ 20.6 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือนก.พ. 62 ขาดดุลจำนวน 44.0 พันล้านบาท
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 41.9 ของ GDP
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.พ. 62 หดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.พ.62 ขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม ภายในประเทศเดือน ก.พ. 62 หดตัวร้อยละ -6.7 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 62 หดตัวร้อยละ -1.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ระดับ 95.6
  • GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 61 (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ของเวียดนาม ในไตรมาสที่ 1 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.พ. 62 ปี งปม. 62 เบิกจ่ายได้ 200.2 พันล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 20.6 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 182.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23.8 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 152.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.3 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 29.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญในเดือน ก.พ. 62 ได้แก่ งบรายจ่ายอื่นของกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 20,803 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 10,656 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 8,497 ล้านบาท งบลงทุนของกรมทางหลวง 8,320 ล้านบาท และงบลงทุนของกรมชลประมาน 3,360 ล้านบาท

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.พ. 62 ได้จำนวน 177.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานรายได้ขยายตัวร้อยละ 10.3 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานบริโภคที่หดตัวร้อยละ 0.1 ต่อปี

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.พ. 62 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน 44.0 พันล้านบาททั้งนี้และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 16.2 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล 27.8 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ระดับ 325.6 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.พ. 62 มีมูลค่า 63,411 ล้านบาท คิดเป็นการหดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -2.0 โดยเป็นการหดตัวจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าร้อยละ -5.6 เป็นสำคัญ เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าของประเทศที่ลดลง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศยังคงขยายตัวได้อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงยังขยายตัวที่ร้อยละ 1.4

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.พ.62 ขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อปี แต่หดตัวร้อยละ -4.3 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล จากการขยายตัวของหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ ขยายตัวร้อยละ 14.8 ต่อปี โดยนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ก่อนที่จะมีการบังคับใช้มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) ในวันที่ 1 เม.ย.62 นี้ ทำให้ 2 เดือนแรกของปี 62 ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 11.2 ต่อปี

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,901.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.9 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 69.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 87.2 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 96.5 ของยอดหนี้สาธารณะ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 62 หดตัวที่ร้อยละ -1.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี ทั้งนี้ การหดตัวของดัชนีอุตสาหกรรมในเดือนนี้เกิดจากการหยุดการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กบางรายที่หยุดปิดปรับปรุงเครื่องจักร รวมถึงการหดตัวของการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติกที่หดตัวร้อยละ -5.5 จากปัจจัยของน้ำยางที่ออกสู่ตลาดที่ลดลง และการหดตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่หดตัวร้อยละ -11.4 และร้อยละ -14.3 ตามลำดับ จากการส่งออกที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ขยายตะวร้อยละ 3.2 ต่อปี จากการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นสำคัญ นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน ก.พ. อยู่ที่ร้อยละ 69.0 ของกำลังการผลิตรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 70.5 ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตสูง ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มน้ำมันปโตรเลียม ตามการขยายตัวของดัชนีอุตสาหกรรมในเดือนนี้

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.พ. 62 หดตัวร้อยละ -6.7 ต่อปีและหดตัวร้อยละ -5.4 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของเหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และเหล็กแผ่นรีดเย็น หดตัวร้อยละ -38.3 และ -5.6 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ 2 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศหดตัวร้อยละ -5.1 ต่อปี

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ระดับ 95.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.8 ในเดือน ม.ค. เป็นค่าที่สูงสุดในรอบ 73 เดือน การปรับเพิ่มเนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มทที่ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จำหน่ายในประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่งออกยังคงกังวลเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกให้ชะลอตัวลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (TISI (E)) อยู่ที่ระดับ 105.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 104.1 ในเดือน ม.ค. เนื่องจากผู้ประกอบเชื่อว่าหลังจากการเลือกตั้งจะทำให้มีนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจน ส่งผลดีต่อการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของไทย

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 61 (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากตัวเลขปรับปรุงครั้งก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากการบริโภคที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกสินค้าในหมวดเครื่องมืออุตสาหกรรมและระดับสินค้าทุนที่ขยายตัวเร่งขึ้น เป็นสำคัญ ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าในหลายหมวดที่ชะลอลง โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องมืออุตสาหกรรมที่หดตัวถึงร้อยละ -7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และขาดดุลการค้าที่ 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

Japan: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 62 หดตัวร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าจากผลผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายสินค้าหมวดสินค้าทั่วไปและเครื่องนุ่งห่มหดตัวต่อเนื่อง.

Philippines: improving economic trend

ยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากหมวดสินค้าประเภทเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งพิมที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ไตรมาส 1 ปี 62 อยู่ที่ระดับ -0.5 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -22.5 จุด จากดัชนีย่อยทุกหมวด (การเงิน รายได้ครัวเรือน และสภาวะเศรษฐกิจ) ที่เพิ่มขึ้น

Eurozone: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 62 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 47.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.3 จุด จากดัชนีย่อยหมวดปริมาณยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน มี.ค. 62 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 52.7 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.8 จุด ทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน มี.ค. 62 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 51.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.9 จุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ระดับ -7.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -7.4 จุด

South Korea: worsening economic trend

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 62 หดตัวลงที่ร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยหมวดก่อสร้าง ไฟฟ้า และอุปกรณ์การผลิตหดตัวในอัตราสูง ยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. 62 หดตัวลงที่ร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีหมวดย่อยอาหารและอุปกรณ์การสื่อสารหดตัวในระดับสูง

Taiwan: worsening economic trend

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 62 หดตัวลงที่ร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ -1.09 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยหมวดภาคการผลิตหดตัว ยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. 62 หดตัวลงที่ร้อยละ -5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีหมวดค่าปลีกและค้าส่งต่างหดตัว

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออกเดือน ก.พ. 62 หดตัวร้อยละ -6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.4 โดยการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ ยังหดตัวต่อเนื่อง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.พ. 62 หดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

UK: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ระดับ -13.0 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -14.0 จุด จากดัชนีย่อยหมวดสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตและบรรยากาศต่อการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

Singapore: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 0.4 จากหมวดสินค้าเกี่ยวกับการขนส่ง และสื่อสารที่เพิ่มขึ้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.7 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตโลหะพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น

Vietnam: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ปี 61 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน การเติบโตถูกขับเคลื่อนด้วยการขยายตัวต่อเนื่องของภาคบริการ อุตสาหกรรมและการก่อสร้าง มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเกินดุลการค้าใน เดือน มี.ค. 62 ที่ 6 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดเครื่องดื่มและยาสูบ ยอดค้าปลีกเดือน มี.ค. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 13.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากรายได้หมวดท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สวนทางกับ Dow Jones (สหรัฐฯ) ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากทิศทางนโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 28 ก.ย. 60 ปิดที่ระดับ 1,666.36 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 25-28 ก.ย. 60 ที่ 56,783 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนทั่วไป นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25-28 ก.ย. 60 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,995.06 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในเกือบทุกช่วงอายุปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-8 bps สอดคล้องกับกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกสุทธิ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 25-28 ก.ย. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 22,760.78 ล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 28 ก.ย. 60 เงินบาทปิดที่ 33.41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ที่อ่อนค่าลงเช่นกัน นอกจากนี้ โดยรวมแล้วเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักหลายสกุล ยกเว้นเงินยูโรและวอน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ 0.86

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ