สศท.11 เผยทิศทางหอมแดงศรีสะเกษ ปีนี้ราคาดี แนะเกษตรกรรักษาคุณภาพ เฝ้าระวังโรคหอมเลื้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 9, 2020 13:59 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ของ สศท.11 อุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์หอมแดง ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ แหล่งผลิตอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยผลพยากรณ์การผลิตหอมแดง ปีเพาะปลูก 2563/64 (ข้อมูล ณ 4 พฤศจิกายน 2563) คาดว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 22,756 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 19,797 ไร่ (เพิ่มขึ้น 2,959 ไร่ หรือร้อยละ 15) เนื่องจาก ปีที่แล้วราคาดี จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูก และเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง ผลผลิตรวม 67,972 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 68,429 ตัน (ลดลง 457 ตัน หรือร้อยละ 1) ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 2,987 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วผลผลิตอยู่ที่ 3,472 กิโลกรัม/ไร่ (ลดลง 485 กิโลกรัม/ไร่ หรือร้อยละ 14) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุนังกาและพายุโมลาเบ ส่งผลให้ฝนตกชุก น้ำท่วมขังในพื้นที่ หอมแดงจึงชะงักการเจริญเติบโตต้นแคระแกรน หัวเล็ก ผลผลิตบางส่วนเสียหาย

สำหรับการเพาะปลูกหอมแดงปีเพาะปลูก 2563/64 เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพายุนังกาและพายุโมลาเบ โดยเฉพาะพื้นที่ในอำเภอราษีไศล และอำเภอยางชุมน้อย ทำให้ต้องเพาะปลูกล่าช้ากว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยได้เริ่มการเพาะปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ และผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงปลายเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2564 ประมาณ 47,580 ตัน หรือร้อยละ 70 ในขณะที่เกษตรกรพื้นที่อื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว สามารถดำเนินการเพาะปลูกได้ตามปกติ โดยเริ่มเพาะปลูกมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน 2563 และผลผลิตจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2563 คิดเป็นร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งหมด

ด้านสถานการณ์ราคาหอมแดงที่เกษตรกรขายได้ สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาในทุกประเภท เนื่องจากผลผลิตในพื้นที่มีน้อย ตลาดต้องการมาก ประกอบกับหอมแดงจากภาคเหนือผลผลิตยังมีน้อย จึงนับว่าเป็นปีทองของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและมีทุนสำรองเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกในปีถัดไป โดยราคา ณ 4 พฤศจิกายน 2563หอมแดงสดแก่ (คละ) เฉลี่ย 30 บาท/กิโลกรัม สูงขึ้นจากปีที่แล้วที่มีราคาอยู่ที่ 18 บาท/กิโลกรัม หอมปึ่ง ซึ่งเป็นหอมแดงที่เก็บเกี่ยวและแขวนตากในโรงเก็บเป็นเวลาประมาณ 12 วัน เฉลี่ย 55 บาท/กิโลกรัม สูงขึ้นจากปีที่แล้วที่มีราคาอยู่ที่ 35 บาท/กิโลกรัม และหอมมัดจุกใหญ่ เฉลี่ย 80 บาท/กิโลกรัม สูงขึ้นจากปีที่แล้วที่

มีราคาอยู่ที่ 55 บาท/กิโลกรัม

สำหรับการซื้อขายหอมแดงนั้น จะมีพ่อค้าในชุมชน พ่อค้ารายย่อย พ่อค้าเร่ มารับซื้อจากเกษตรกร ส่วนพ่อค้ารายใหญ่ ในจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ ร้านสิทธิกรณ์ดีพืชผล เป็นผู้รวบรวมและส่งหอมแดงรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะรับซื้อหอมแดงเพื่อส่งขายลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ จังหวัดศรีสะเกษ โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ส่งเสริมการปลูกหอมแดงในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน (แปรรูปเป็นชาหอมแดง) และที่สำคัญหอมแดงศรีสะเกษ เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญหา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า และสนับสนุนช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างรายได้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด เกษตรกรควรเฝ้าระวังในเรื่องของสภาพอากาศ โดยเฉพาะปีนี้ พายุฝนค่อนข้างแปรปรวน เกษตรกรควรจัดทำร่องปลูกเพื่อระบายน้ำได้สะดวก ลดเกิดการเน่าเสียของหอมแดง นอกจากนี้ เกษตรกรควรเฝ้าระวังหนอนกระทู้ ที่เคยระบาดในปี 2562 และโรคหอมเลื้อย ที่สามารถพบได้ในระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น และในสภาพอากาศร้อนจัด ความชื้นในอากาศน้อย สำหรับเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตหอมแดงของจังหวัดศรีสะเกษ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.11 อุบลราชธานี โทร. 045 344 654 หรืออีเมล zone11@oae.go.th

***********************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ