ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 6, 2020 15:09 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2563 เท่ากับ 104.7 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 ลดลงร้อยละ 1.8 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ลดลงร้อยละ 8.6 ตามความต้องการบริโภค การผลิต และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปที่หดตัว รวมทั้งหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ที่ปรับลดลงร้อยละ 1.9 สอดคล้องกับดัชนีการจำหน่าย วัสดุก่อสร้างภายในประเทศ และดัชนีตลาดหลักทรัพย์หมวดวัสดุก่อสร้างที่ชะลอตัวลง

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1.เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 (YoY) ลดลงร้อยละ 1.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 8.6 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ เหล็กแผ่นเรียบดำ ท่อสแตนเลส ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท สอดคล้องกับความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กภายในประเทศที่หดตัวร้อยละ 36.0 และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.9 ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา ถังซีเมนต์สำเร็จรูป ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป และชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีการผลิตสินค้าจำนวนมากกว่าความต้องการ (Over supply) ส่งผลให้ผู้ประกอบการเร่งระบายสินค้าเพื่อเพิ่มสภาพคล่องสำหรับใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ขณะที่หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม เนื่องจากภาวะการก่อสร้างเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น โดยยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เป็นผลจากโรงกลั่นในสิงคโปร์ที่มีการหยุดการผลิต (Shut down) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการยางมะตอย เพื่อใช้ก่อสร้างและซ่อมบำรุงทางของโครงการภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลส ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ คือ สแตนเลสและลวดทองแดง ที่ปรับราคาสูงขึ้น และหมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ โถส้วมชักโครก ที่ปัสสาวะเซรามิก กระจกเงา และที่ใส่สบู่

2. เทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ผสมและปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐเป็นสำคัญ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ และท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส เนื่องจากความต้องการใช้ในการก่อสร้างโครงการภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงราคาวัตถุดิบ คือ เศษเหล็ก ซึ่งราคาสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนี้ปรับราคาสูงขึ้นร้อยละ 4.7 (MoM) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากสถานการณ์การก่อสร้างและซ่อมบำรุงทางของภาครัฐเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่โรงกลั่นในสิงคโปร์มีการหยุดการผลิต (Shut down) ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบปรับราคาสูงขึ้นด้วย และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของคอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ โดยมีการปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต และความต้องการใช้ที่สูงขึ้น เนื่องจากการก่อสร้างภาครัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ

3. เฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ลดลงร้อยละ 2.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 11.4 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดผูกเหล็ก ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท เนื่องจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กราคาถูกจากต่างประเทศจำนวนมาก ประกอบกับราคาวัตถุดิบ คือ เศษเหล็กปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง 5 เดือน ถึงแม้ราคาเศษเหล็กเริ่มมีการปรับราคาสูงขึ้นบ้างแล้วก็ตาม หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.9 ได้แก่ คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ชีทไพล์คอนกรีต และถังซีเมนต์สำเร็จรูป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาวะการค้าชะลอตัว ตลาดมีการแข่งขันสูง ประกอบกับต้นทุนการผลิตปรับราคาลดลง หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.5 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลสืบเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้โครงการก่อสร้างของภาครัฐและเอกชนต้องชะลอและเลื่อนออกไป และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.2 ได้แก่ อลูมิเนียมแผ่นเรียบ ทรายหยาบ อิฐมอญ และยางมะตอย ปรับราคาลดลงตามวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ขณะที่หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง และบานประตู เนื่องจากราคาไม้นำเข้าปรับราคาสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2562 และราคาทรงตัวถึงเดือนกรกฎาคม 2563 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลส และ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ คือ สแตนเลส ลวดทองแดง หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน และสีรองพื้นโลหะ ปรับราคาตามต้นทุน และหมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ อ่างล้างหน้าเซรามิก ที่ปัสสาวะเซรามิก กระจกเงา ที่ใส่สบู่ สายฉีดชำระ และสายน้ำดี

4.ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนสิงหาคม 2563

มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนกรกฎาคม เป็นผลมาจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้โครงการก่อสร้างของภาครัฐหลายโครงการ รวมถึงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร/ที่อยู่อาศัยของเอกชนเร่งดำเนินงาน ส่งผลให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบ โดยเฉพาะเศษเหล็ก ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้ธุรกิจด้านก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ซบเซา เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ ผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ ซึ่งขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจากพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล การเลื่อนเปิดตัวโครงการใหม่และเร่งระบายสต็อกที่อยู่อาศัยแนวสูง เนื่องจากความต้องการลดลงเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมาตรการคลายล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้ และเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติเกือบทุกประเภท นักลงทุนชาวต่างชาติจึงเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย และคาดว่าความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์จากกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนจะฟื้นตัวภายในช่วงสิ้นปีนี้ รวมถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้วงเงิน 4 แสนล้านบาท น่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม และเป็นปัจจัยที่ผลักดันความต้องการในภาคก่อสร้างภายในประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ