โฆษกกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องระเบียบการขอวีซ่าเชงเกน

ข่าวต่างประเทศ Tuesday May 6, 2014 11:35 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องระเบียบการขอวีซ่าเชงเกนว่า กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ว่า ในปัจจุบันบริษัทนำเที่ยวไทยบางบริษัทไม่ให้ความสำคัญและหลบเลี่ยงกฎระเบียบการเข้าเมืองของสหภาพยุโรป โดยจะยื่นขอวีซ่าเชงเกนจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศที่แอบอ้างว่าเป็นเป้าหมายในการเดินทางให้แก่ผู้เดินทาง โดยใช้หลักฐานการจองบัตรโดยสารเครื่องบินและที่พักในประเทศที่แอบอ้างนั้นในการยื่นขอวีซ่า เมื่อได้รับวีซ่าแล้วก็จะยกเลิกบัตรโดยสารเครื่องบินและที่พักที่สำรองไว้เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศเชงเกนอื่นที่มีความเข้มงวด ในการให้วีซ่าแก่นักท่องเที่ยว ทำให้เกิดปัญหาแก่นักท่องเที่ยวเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบและอาจถูกส่งตัวกลับประเทศไทยได้ เช่น กรณีของนักท่องเที่ยวไทย ๑๔ คน ที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของเยอรมนีไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศและส่งตัวกลับประเทศไทย เนื่องจากพบว่าบริษัทนำเที่ยวจงใจขอวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย แต่นำนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มเชงเกนอื่น

กระทรวงการต่างประเทศขอประชาสัมพันธ์ให้บริษัทนำเที่ยวหรือผู้ที่จะเดินทางไปประเทศกลุ่มเชงเกนปฏิบัติตามกฏระเบียบการเข้าเมืองอย่างเคร่งครัด ดังนี้

๑. หากต้องการเดินทางเข้าประเทศกลุ่มเชงเกนหลายประเทศ ให้ยื่นขอวีซ่าจากประเทศกลุ่มเชงเกนที่จะเดินทางเข้าเป็นประเทศแรก เช่น ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวในยุโรป ๑๐ ประเทศภายในระยะเวลา ๗ วัน โดยบินจากกรุงเทพฯ มาลงที่นครอัมสเตอร์ดัมเป็นที่แรก ก็ให้ยื่นขอวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

๒. หากต้องการเดินทางเข้า - ออกประเทศภายในกลุ่มเชงเกนมากกว่าหนึ่งประเทศ ให้ยื่นขอวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศที่จะพำนักอยู่นานกว่าประเทศอื่น เช่น ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวและเยี่ยมเยียนญาติในประเทศเบลเยียมเป็นเวลา ๒ เดือน แต่จะแวะท่องเที่ยวฝรั่งเศสก่อนเป็นเวลา ๓ วัน ก็จะต้องยื่นขอรับวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย เป็นต้น หากจำเป็นต้องเดินทางเข้า - ออกประเทศกลุ่มเชงเกนมากกว่าหนึ่งประเทศ ผู้เดินทางจะต้องเตรียมเอกสารหลักฐานที่สามารถยืนยันการเดินทางหรือที่พักในประเทศปลายทางลำดับต่อไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปฏิเสธการเข้าเมืองหรือการถูกส่งตัวกลับประเทศไทย

ทั้งนี้ เหตุการณ์ข้างต้นเป็นคนละกรณีกับกรณีคนไทย ๖๐ คนถูกกักตัวที่สนามบินแฟรงก์เฟิร์ตที่ปรากฎในสื่อในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ