การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 5, 2019 14:06 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน เข้าร่วมการประชุม

ผู้นำอาเซียนได้แสดงความยินดีกับญี่ปุ่นในโอกาสที่สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่รัชสมัยใหม่ ในรัชสมัยเรวะ นอกจากนี้ ยังได้แสดงความยินดีกับญี่ปุ่น ที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด G20 ที่นครโอซากา และการแข่งขันรักบี้โลก เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้นำอาเซียนได้แสดงความเสียใจกับญี่ปุ่นและครอบครัวของเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้กล่าวต้อนรับนักกีฬาจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ญี่ปุ่นในปี 2563 ด้วย

ที่ประชุมมีความยินดีที่ญี่ปุ่นสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนและกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำในโครงสร้างสถาปัตยกรรมของภูมิภาค มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยินดีที่ญี่ปุ่นให้การสนับสนุนต่อความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration) ที่ประชุมได้หารือแนวทางกระชับความร่วมมือในกรอบหุ้นส่วนเชิยุทธศาสตร์อาเซียน-ญี่ปุ่นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ ในการนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความเกื้อกูลกันระหว่างยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo-Pacific Strategy) ของญี่ปุ่นกับเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) รวมทั้งแนวทางส่งเสริมความร่วมมือรายสาขากับญี่ปุ่นภายใต้ AOIP นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาค อาทิ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ และคาบสมุทรเกาหลี

ผู้นำได้รับทราบถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น และได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและความเชื่อมโยงมากยิ่งขึ้น คือ แนวทางผนึกกำลังระหว่างข้อริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ (Quality Infrastructure Initiative) ของญี่ปุ่นกับแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 (Master Plan on ASEAN Connectivity (MPAC) 2025) นอกจากนี้ ที่ประชุมสนับสนุนให้มีการสรุปผลเจรจาของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional and Comprehensive Economic Partnership) โดยเร็ว และเห็นพ้องถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างดิจิทัล และการเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4

ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ประชุมสนับสนุนให้พัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น อาทิ การฝึกอบรมครูและอาชีวศึกษา และการให้ทุนการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่ประชุมได้รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ว่าด้วยความเชื่อมโยง

ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นเริ่มขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี 2516 ต่อมา เมื่อปี 2520 ญี่ปุ่นจึงได้รับสถานะประเทศคู่เจรจากับอาเซียนอย่างเป็นทางการ ในปี 2546 ได้มีการยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) เพื่อฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นครบรอบ 30 ปี ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนประเทศแรกที่ได้จัดตั้งคณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อปี 2554

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ