เอแบคโพลล์: สำรวจสถานการณ์ทางเพศของนักเรียนชั้น ม.1-ม.6 และอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน

ข่าวผลสำรวจ Friday February 13, 2009 10:02 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง สำรวจสถานการณ์ทางเพศของนักเรียนชั้น ม.1-ม. 6 และอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน: กรณีศึกษานักเรียนชั้น ม. 1-ม. 6 ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น1,843 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 4 — 12 กุมภาพันธ์ 2552 ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 13.2 ระบุเคยมีประสบการณ์ในการมีเพศสัมพันธ์ร่วมหลับนอนกับคนอื่น ในขณะที่ร้อยละ 86.8 ระบุยังไม่เคยมี เพศสัมพันธ์ ทั้งนี้เมื่อสอบถามว่าบุคคลที่เคยมีเพศสัมพันธ์ด้วยในครั้งแรกคือใครนั้น พบว่า ร้อยละ 87.6 ระบุแฟน/คู่รัก ในขณะที่ร้อยละ 5.7 ระบุ เพื่อนต่างโรงเรียน/เพื่อนต่างสถาบัน ร้อยละ 3.8 ระบุเพื่อนร่วมโรงเรียน/เพื่อนร่วมสถาบัน ร้อยละ 1.9 ระบุผู้ขายบริการทางเพศ ร้อยละ 1.0 ระบุเพื่อนใหม่ที่พบตามเธค ผับ สถานบริการ/สถานบันเทิง

และเมื่อสอบถามถึงสถานการณ์หรือแรงผลักดันที่ทำให้มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกนั้น พบว่า ร้อยละ 62.7 ระบุเกิดจากความรู้สึกรัก/ชอบ รองลงมาคือร้อยละ 32.1 ระบุอยากลอง ร้อยละ 26.6 ระบุเป็นเพราะการอยู่ใกล้ชิดเพศตรงข้าม ร้อยละ 11.0 ระบุถูกบังคับล่อลวงโดยคน รู้จัก/ใกล้ชิด ร้อยละ 10.1 ระบุการดูหนังภาพยนตร์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกทางเพศ/สื่อลามก อาทิ เว็บไซต์/วีซีดี ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นเพราะการดื่ม เหล้า/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามลำดับ

สำหรับบุคคลที่เคยมีเพศสัมพันธ์ด้วยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานั้นพบว่า ร้อยละ 81.7 ระบุมีเพศสัมพันธ์กับแฟน/คู่รัก รองลงมาคือร้อยละ 17.1 ระบุมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมโรงเรียน/เพื่อนร่วมสถาบัน ร้อยละ 14.6 ระบุเพื่อนต่างโรงเรียน/เพื่อนต่างสถาบัน ร้อยละ 8.5 ระบุ มี เพศสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ที่พบตามเธค ผับ สถานบริการ หรือสถานบันเทิง ร้อยละ 7.3 ระบุ เพื่อนทางอินเทอร์เน็ต อาทิ เพื่อนจาก Hi-5 / เพื่อนจาก MSN ร้อยละ 4.9 ผู้ขายบริการทางเพศ และร้อยละ 3.7 ระบุนักร้องหญิง/หญิงคาราโอเกะ หรือห้องอาหาร

ประเด็นที่น่าสนใจคือเมื่อทำการวิเคราะห์จำแนกตัวอย่างออกตามการตกเป็นกลุ่มเสี่ยง/ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น พบว่าร้อยละ 84.3 ของตัวอย่างที่เคยมีเพศสัมพันธ์ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 15.7 เท่านั้นที่ไม่ตกเป็น กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว

นอกจากนี้เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการขายบริการทางเพศ ของเยาวชนบางกลุ่มในปัจจุบันนี้นั้น พบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 89.8 ระบุไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 10.2 ระบุเห็นด้วย เพราะคิดว่าบางคนคงต้องการรายได้ /สถานการณ์บังคับ/เป็น ความสุขของคนทำ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 75.8 ระบุยอมรับไม่ได้เลยในเรื่องการขายบริการทางเพศถึงแม้ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายใน เรื่องที่จำเป็นก็ตาม ร้อยละ 22.0 ระบุไม่แน่ใจ ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 2.2 เท่านั้นที่ระบุยอมรับได้

ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงความคิดความตั้งใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ ร่วมหลับนอนกับคนรักในวันวาเลนไทน์ที่จะมาถึงนี้นั้น ผลการ สำรวจพบว่า ร้อยละ 3.7 คิดที่จะมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์อย่างแน่นอน ในขณะที่ร้อยละ 22.6 ยังไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตามมากกว่า 2 ใน 3 คือร้อยละ 73.7 ระบุไม่มีความคิด/ไม่มีความตั้งใจเช่นนั้นเลย

ดร.นพดล กล่าวว่าที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ ผลวิเคราะห์สถิติวิจัย Odds Ratio ในการวิจัยครั้งนี้พบ ค่าอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อการ มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนของกลุ่มเยาวชน ที่พบว่าเยาวชนที่มีภาวะความเสี่ยง ได้แก่

เด็กนักเรียนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีภาวะความเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนสูงเกือบ 5 เท่า คือ 4.8 เท่าของเด็กนักเรียนที่ไม่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เด็กนักเรียนที่เที่ยวกลางคืนมีความเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนสูง 3.8 เท่าของเด็กนักเรียนที่ไม่เที่ยวกลางคืน

เด็กนักเรียนที่หนีเรียนมีความเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนสูง 2.6 เท่าของเด็กที่ไม่หนีเรียน

เด็กนักเรียนที่ใช้สารเสพติดมีความเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนสูง 2.2 เท่าของเด็กที่ไม่ใช้สารเสพติด

เด็กนักเรียนที่เคยใช้อาวุธทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นมีความเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนสูงประมาณ 2 เท่าคือ 1.9 เท่า เด็กนักเรียนที่เคย ใช้กำลังทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นมีความเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนสูง 1.5 เท่า

เด็กนักเรียนที่มีปัญหาครอบครัวมีความเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนสูงกว่าเด็กไม่มีปัญหาครอบครัวถึง 1.1 เท่า

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า สำหรับในโอกาส "วันวาเลนไทน์" หรือวันแห่งความรักที่กำลังจะมาถึงนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมี มาตรการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ดังต่อไปนี้

1.มาตรการด้านครอบครัว

ครอบครัวเป็นหน่วยทางสังคมที่มีความสำคัญต่อการถ่ายทอดค่านิยม ทัศนคติ และแบบแผนทางพฤติกรรมที่สอดคล้องกับบรรทัดฐานของ สังคมให้กับเด็กและเยาวชน ค่านิยมทางเพศและพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นจะมีทิศทางเป็นอย่างไร จึงย่อมมีความสัมพันธ์กับบรรยากาศการเลี้ยงดู และสัมพันธภาพของครอบครัว

1) ครอบครัวหรือผู้ปกครองต้องให้ความรักและความอบอุ่นแก่ลูกหลาน ความรักของพ่อแม่ การเลี้ยงดูของพ่อแม่ วินัยของพ่อแม่ และ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของพ่อแม่ มีส่วนสร้างบุคลิกภาพและค่านิยมรวมถึงแบบแผนพฤติกรรมในเรื่องเพศให้แก่เด็ก

2) พ่อแม่ ผู้ปกครองทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งนี้เพราะเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่จะรับแบบต่าง ๆ จากพฤติกรรมของพ่อแม่ เยาวชน จะอยู่ในวัยที่ต้องมีตัวแบบเพื่อเขาจะได้เลียนแบบพฤติกรรม เช่น ในเรื่องการวางตัวต่อเพศตรงข้าม ความมั่นคงทางอารมณ์ ความซื่อสัตย์ต่อกัน การให้เกียรติซึ่งกันและกันในการใช้ชีวิตคู่ของพ่อแม่

3) การปลูกฝังค่านิยมเรื่องเพศที่ถูกต้องให้แก่ลูกหลาน พ่อแม่หรือผู้ปกครองปลูกฝังค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณีในเรื่องเพศ เช่น ผู้หญิงให้รักนวลสงวนตัว ผู้ชายให้เกียรติผู้หญิง รู้จักความรับผิดชอบ อดได้รอได้ เป็นต้น

4) พ่อแม่ ผู้ปกครอง เข้าใจลักษณะทางธรรมชาติและความต้องการของวัยรุ่น พ่อแม่ควรมีการศึกษาพัฒนาการในช่วงวัยต่าง ๆ ของ ลูกหลาน เช่น พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าวัยรุ่นต้องการอิสระ ความเป็นส่วนตัว การตัดสินใจด้วยตนเอง เป็นต้น พ่อแม่จึงต้องทำการศึกษาเพื่อลดช่อง ว่างระหว่างวัยระหว่างพ่อแม่กับลูก

5) ครอบครัวมีการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย ช่วยให้วัยรุ่นแสดงลักษณะความเป็นตัวของตัวเอง มีการปรับตัวทางสังคมที่ดี เด็กและ เยาวชนที่มีสัมพันธภาพและปรองดองกับพ่อแม่ของเขาจะมีปัญหานอกบ้านน้อยกว่าวัยรุ่นที่มาจากครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูแบบเข้มงวด

6) เลือกหรือคัดกรองสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น ให้อยู่ในขอบข่ายที่เหมาะสมไม่ล่อแหลมจนเกินไป ถ้าสื่อใด ๆ ที่ออกมาเห็นว่าไม่สมควร พ่อแม่ควรให้ข้อมูลย้อนกลับ ให้ความรู้ คำอธิบาย ชี้ให้เห็นคุณและโทษของข้อมูลจากสื่อนั้น ๆ

7) การสนับสนุนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ การให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น การอ่านหนังสือ การออก กำลังกาย การเล่นดนตรี เป็นต้น

8) กลุ่มเพื่อนเป็นกลุ่มที่มีอิทธิต่อวัยรุ่นมาก พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรทำความรู้จักสนิทสนมกับกลุ่มเพื่อนของลูกหลาน และคอยสอนให้ เยาวชนเลือกคบเพื่อนที่มีลักษณะเป็นกัลยาณมิตร

2. มาตรการด้านโรงเรียน/สถานศึกษา

1) การจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาสามารถปลูกฝังค่านิยมทางเพศที่เหมาะสม หรือส่งเสริมการใช้เวลา ว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อเด็กและเยาวชนจะได้ไม่หมกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ โดยการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร ได้แก่ การเข้ากลุ่มกิจกรรม กีฬา งานอดิเรก เช่น เกี่ยวกับวิชาการ ด้านภาษา ดนตรี การพัฒนาสังคม การบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน โครงการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมทำให้ พัฒนาการของวัยรุ่นพัฒนาในทางที่ดี มีสุขภาพจิตดี ลดความก้าวร้าว สามารถค้นหาอัตตลักษณ์ของตนเองได้ สามารถสร้างแรงบันดาลในการนำไปสู่ ความสำเร็จตามเป้าหมายของชีวิต

2) การจัดบริการแนะแนวให้คำปรึกษา ทางโรงเรียนและสถานศึกษามีการจัดบริการแนะแนวให้คำปรึกษา โดยทำการประชาสัมพันธ์ให้ นักเรียนทราบว่ามีหน่วยงานที่คอยให้ความช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องต่าง ๆ เมื่อเกิดปัญหา วัยรุ่นเป็นวัยของการปรับเปลี่ยนเชื่อมโยงจากวัยเด็กตอน ปลายไปสู่วัยผู้ใหญ่ การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัวทำให้เกิดประสบการณ์ และเรียนรู้ในสิ่งใหม่ตลอดเวลา จนบางครั้งบางสถานการณ์ที่ เกิดขึ้นทำให้เยาวชนไม่สามารถทำการตัดสินใจได้ด้วยตนเอง เกิดความกังวลและความเครียด จำเป็นต้องมีหน่วยงานจัดบริการให้คำปรึกษา เช่น การคบเพื่อนต่างเพศ การเรียน เป็นต้น ทางโรงเรียนจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนได้รู้จักหน่วยให้บริการนี้ด้วย

3) การเรียนการสอนในหลักสูตรควรทำควบคู่ไปกับการปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมในเรื่องต่าง ๆ ให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย การสอนเรื่องการคบเพื่อนต่างเพศต้องวางตัวอย่างไร เป็นต้น

4) ครูอาจารย์ และบุคลากรในโรงเรียนหรือสถานศึกษา ให้ความดูแล เอาใจใส่ สังเกตสอดส่องพฤติกรรมของนักเรียน/นักศึกษา ในการแสดงพฤติกรรมทางเพศอย่างใกล้ชิด เพื่อพบพฤติกรรมที่เป็นปัญหาควรรีบให้ความช่วยเหลือ และแก้ไขให้เร็วที่สุด

ในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นนั้น ครูอาจารย์ ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองต้องรีบแก้ไข ไม่ควรที่จะซ้ำเติมสิ่งที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่น ควรมีการให้ความ ช่วยเหลือ โดยการให้คำปรึกษา ให้กำลังใจแก่เด็กและเยาวชนที่มีปัญหา ให้ข้อคิดต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติสุขได้

3. มาตรการด้านสังคม

1) นโยบายการจัดระเบียบสังคม รัฐบาลควรเพิ่มมาตรการการเปิด-ปิดสถานบันเทิง ผับ ศูนย์การค้า และร้านอาหารในพื้นที่ที่เป็นที่ ก่อตั้งโรงเรียนหรือสถานศึกษา และควรเพิ่มมาตรการการควบคุมการบังคับของกฎหมายให้มากขึ้น เพื่อป้องกันแหล่งมั่วสุม ซึ่งทำให้วัยรุ่นเข้าไปใช้ บริการแล้วเกิดปัญหาทางสังคมตามมา

2) การออกกฎหมายลงโทษผู้ที่ผลิตสื่อลามก และผู้ที่ช่วยในการเผยแพร่ให้มีโทษสูงขึ้น เพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของสื่อ ลามกเหล่านี้

3) จัดโครงการ กิจกรรมต่าง ๆ ช่วยกันรณรงค์ปลูกฝังค่านิยมเรื่องเพศที่ถูกต้อง และการแสดงพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสม โดย ภาครัฐและภาคเอกชนช่วยกันประสานงาน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีค่านิยมเรื่องเพศ มีความรู้ในเรื่องเพศศึกษาได้อย่างถูกต้อง

4) บุคคลสำคัญในสังคมเป็นตัวแบบที่ดีแก่เด็กและเยาวชนในเรื่องของค่านิยมทางเพศ และพฤติกรรมที่แสดงออกทางเพศ เพราะเนื่อง จากวัยรุ่นจะมีฮีโร่ประจำใจของเขา แล้วเมื่อเขาชอบพอใจเขาก็จะเลียนแบบโดยไม่ได้คัดกรองว่าดีหรือไม่ดี ดังนั้น บุคคลต่าง ๆ เหล่านี้ควรทำตัว เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม

ดร.นพดลกล่าวปิดท้าย

รายละเอียดงานวิจัย

วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการวิจัย

1. เพื่อสำรวจสถานการณ์ทางเพศของนักเรียนระดับ ม.1-ม.6 ในเขตกรุงเทพมหานคร ในช่วงวันวาเลนไทน์ 2552

2. เพื่อสำรวจความเสี่ยง/ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

3. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งต่อไป

ระเบียบวิธีการทำโพลล์

โครงการสำรวจภาคสนามของศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัม ชัญ ครั้งนี้ เรื่อง สำรวจสถานการณ์ทางเพศของนักเรียนชั้น ม.1-ม. 6 และอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน :กรณีศึกษานัก เรียนชั้น ม. 1-ม. 6 ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,843 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 4 — 12 กุมภาพันธ์ 2552 กลุ่ม ประชากรเป้าหมายคือนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 6 ในเขตกรุงเทพมหานคร เทคนิคการสุ่มตัวอย่างคือ การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิ หลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจากการทำสำมะโน ช่วงความเชื่อมั่นอยู่ในระดับร้อยละ 95 ขณะที่ขอบเขต ความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างอยู่ที่ +/- ร้อยละ 5 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม วิธีการเก็บรวบรวม ข้อมูลคือ การสัมภาษณ์ หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถามทุกชุดก่อนนำเข้าวิเคราะห์ข้อมูลและงบประมาณเป็น ของมหาวิทยาลัย โดยมีคณะผู้วิจัย จำนวนทั้งสิ้น 78 คน

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างร้อยละ 57.7 เป็นหญิง

ร้อยละ 42.3 เป็นชาย

นอกจากนี้ ร้อยละ 9.3 อายุ 12 ปี

ร้อยละ 16.4 อายุ 13 ปี

ร้อยละ 18.3 อายุ 14 ปี

ร้อยละ 11.5 ระบุอายุ 15 ปี

ร้อยละ 18.7 อายุ 16 ปี

และร้อยละ 25.8 ระบุอายุ 17 ปี ตามลำดับ

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุประสบการณ์ในการมีเพศสัมพันธ์ร่วมหลับนอนกับคนอื่น (อาทิคนรู้จัก คู่รัก

แฟน สามี/ภรรยา เป็นต้น)

ลำดับที่          ประสบการณ์ในการมีเพศสัมพันธ์ร่วมหลับนอนกับคนอื่น           ค่าร้อยละ
1          เคย                                                    13.2
2          ไม่เคย                                                  86.8
          รวมทั้งสิ้น                                                100.0

ตารางที่  2  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยในครั้งแรก (ค่าร้อยละเฉพาะผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์)
ลำดับที่          บุคคลที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยในครั้งแรก                       ค่าร้อยละ
1          แฟน/คู่รัก                                               87.6
2          เพื่อนร่วมโรงเรียน/เพื่อนร่วมสถาบัน                            3.8
3          เพื่อนต่างโรงเรียน/เพื่อนต่างสถาบัน                            5.7
4          ผู้ขายบริการทางเพศ                                        1.9
5          เพื่อนใหม่ที่พบตามเธค ผับ สถานบริการ หรือสถานบันเทิง             1.0
          รวมทั้งสิ้น                                               100.0

ตารางที่  3  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสถานการณ์หรือแรงผลักดันที่ทำให้มีเพศสัมพันธ์ในครั้งแรก (ค่าร้อยละเฉพาะผู้ที่

เคยมีเพศสัมพันธ์ และตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ลำดับที่          สถานการณ์หรือแรงผลักดันที่ทำให้มีเพศสัมพันธ์ในครั้งแรก                 ค่าร้อยละ
1          ความรู้สึกรัก/ชอบ                                                  62.7
2          อยากลอง                                                        32.1
3          อยู่ใกล้ชิดเพศตรงข้าม                                               26.6
4          การดื่มเหล้า/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์                                       8.3
5          การดูหนังภาพยนตร์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกทางเพศ/สื่อลามก อาทิ เว็บไซต์/วีซีดี      10.1
6          ถูกบังคับล่อลวงโดยคนรู้จัก/คนใกล้ชิด                                    11.0
7          เพื่อนชวน                                                         2.8
8          การเสพสารเสพติด                                                  5.5
9          ถูกบังคับล่อลวงโดยคนอื่นที่ไม่ใช่คนรู้จักใกล้ชิด                               3.7

ตารางที่  4  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ค่าร้อยละเฉพาะผู้ที่เคยมี

เพศสัมพันธ์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ลำดับที่          บุคคลที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา                      ค่าร้อยละ
1          แฟน/คู่รัก                                                        81.7
2          เพื่อนร่วมโรงเรียน/เพื่อนร่วมสถาบัน                                    17.1
3          เพื่อนต่างโรงเรียน/เพื่อนต่างสถาบัน                                    14.6
4          เพื่อนใหม่ที่พบตามเธค ผับ สถานบริการ หรือสถานบันเทิง                      8.5
5          เพื่อนทางอินเทอร์เน็ต อาทิ เพื่อนจาก Hi-5 /เพื่อนจาก MSN                  7.3
6          ผู้ขายบริการทางเพศ                                                 4.9
7          นักร้องหญิง/หญิงคาราโอเกะ หรือห้องอาหาร                               3.7

ตารางที่  5   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ตกเป็นกลุ่มเสี่ยง/ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (ค่าร้อยละเฉพาะผู้ที่

เคยมีเพศสัมพันธ์)

ลำดับที่          กลุ่มเสี่ยง/ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์          ค่าร้อยละ
1          มีโอกาสเสี่ยง                                              84.3
4          ไม่เสี่ยง                                                  15.7
          รวมทั้งสิ้น                                                 100.0

ตารางที่  6   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อการขายบริการทางเพศของเยาวชนบางกลุ่มในปัจจุบัน
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อการขายบริการทางเพศของเยาวชนบางกลุ่มในปัจจุบัน                       ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย  เพราะ...คิดว่าบางคนคงต้องการรายได้ /สถานการณ์บังคับ/เป็นความสุขของคนทำ          10.2
2          ไม่เห็นด้วย                                                                       89.8
          รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

ตารางที่  7  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุระดับการยอมรับการขายบริการทางเพศเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นจริงๆ
ลำดับที่          ระดับการยอมรับการขายบริการทางเพศเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นจริงๆ           ค่าร้อยละ
1          ยอมรับไม่ได้เลย                                                                   75.8
2          ไม่แน่ใจ                                                                         22.0
3          ยอมรับได้                                                                         2.2
          รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

ตารางที่  8  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดที่จะมีเพศสัมพันธ์ร่วมหลับนอนกับคนรักในวันวาเลนไทน์ที่จะมาถึงนี้
ลำดับที่          ความคิดตั้งใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ร่วมหลับนอนกับคนรักในวันวาเลนไทน์ที่จะมาถึงนี้          ค่าร้อยละ
1          ไม่มีความคิด                                                               73.7
2          ไม่แน่ใจ                                                                  22.6
3          มีความคิดที่จะมีเพศสัมพันธ์อย่างแน่นอน                                             3.7
          รวมทั้งสิ้น                                                                 100.0

ตารางที่ 9  แสดงค่าอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน
 ลำดับที่    ปัจจัยเสี่ยง                      Odds Ratio(95% C I )          ค่านัยสำคัญp-value
1  ปัญหาครอบครัว
          มีปัญหาครอบครัว                         1.06                          0
          ไม่มีปัญหาครอบครัว                       อ้างอิง
2  การเที่ยวสถานบริการในเวลากลางคืน
          เที่ยวกลางคืน                           3.78                          0
          ไม่เคยเที่ยวกลางคืน                      อ้างอิง
3  การหนีเรียน
         มีพฤติกรรมหนีเรียน                        2.55                          0
         ไม่หนีเรียน                              อ้างอิง
4  การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
           ดื่ม                                  4.78                          0
           ไม่ดื่ม                                อ้างอิง
5  การใช้สิ่งเสพติดประเภทต่างๆ
           ใช้                                  2.22                          0
           ไม่ใช้                                อ้างอิง
6  การทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นโดยใช้กำลัง
           เคย                                 1.53                          0
           ไม่เคย                               อ้างอิง
7  การทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นโดยใช้อาวุธ
           เคยใช้                               1.91                          0
           ไม่เคยใช้                             อ้างอิง

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ