นายกรัฐมนตรีแถลงงบประมาณปี 2551 ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday July 4, 2007 10:30 —สำนักโฆษก

          วันนี้ เวลา 09.30 น. ณ อาคารรัฐสภา พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วาระที่ 1)โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เคารพ
คณะรัฐมนตรีขอเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้
หลักการ
1. ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เป็นจำนวนไม่เกิน 1,660,000,000,000 บาท ( หนึ่งล้านหกแสนหกหมื่นล้านบาท )
2. ตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 35,289,372,689.72 บาท (สามหมื่นห้าพันสองร้อยแปดสิบเก้าล้านสามแสนเจ็ดหมื่นสองพันหกร้อยแปดสิบเก้าบาทเจ็ดสิบสองสตางค์ )
เหตุผล
1. เพื่อให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจได้มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 สำหรับใช้เป็นหลักในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน
2. เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ที่กำหนดให้ตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังตามที่ได้จ่ายไปแล้ว
ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติที่เคารพ
รัฐบาลขออนุญาตเสนอคำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ฉบับสมบูรณ์เป็นเอกสาร และขอเสนอสรุปสาระสำคัญบางประการ ดังนี้
นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้ได้เข้ามาบริหารประเทศ ได้เร่งรัดดำเนินนโยบายและภารกิจที่ได้แถลงต่อสภาแห่งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2549 อันประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ
1. การแก้ไขและบรรเทาปัญหาเร่งด่วน
2. การวางรากฐานสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
ระยะเวลา 8 เดือนที่รัฐบาลเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินได้ดำเนินการปรับปรุงนโยบายและโครงการที่มีอยู่ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและผู้มีรายได้น้อย ด้วยการปรับแนวทางและการบริหารจัดการให้ถูกต้อง เพื่อให้การดำเนินงานต่อไปมีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
การดำเนินงานของรัฐบาลชุดนี้มีกรอบระยะเวลาที่จำกัด และมีปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว คณะรัฐมนตรีจึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตาม และดำเนินการแก้ไขปัญหา รวมทั้งกำหนดนโยบายที่จะเอื้อต่อการพัฒนาประเทศ อันจะนำไปสู่สังคมที่มีความสมานฉันท์ และร่มเย็นเป็นสุข บนพื้นฐานของความโปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด และมีประสิทธิภาพ
ก่อนที่กระผมจะแถลงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 กระผมขอรายงานให้ทราบถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วไป ฐานะและนโยบายการเงินการคลังของประเทศ ดังต่อไปนี้
ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป
เศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี 2550 ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0 — 4.5 อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 3.0 - 3.5 และดุลบัญชีเดิน สะพัดมีแนวโน้มเกินดุลประมาณ ร้อยละ 3.0 - 4.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ อาทิ อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง เป็นต้น
สำหรับในปี 2551 รัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวประมาณร้อยละ 5.0 และมีอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 3.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ ผลการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของ ภาครัฐและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ ประกอบกับการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่คาดว่าจะฟื้นกลับเข้าสู่แนวโน้มการขยายตัวปกติ อันเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น
ฐานะและนโยบายการคลัง
ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เดือนมิถุนายน 2550 มีจำนวนทั้งสิ้น 101,219 ล้านบาท สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 1,560,000 ล้านบาท และเมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จะคงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 1,495,000 ล้านบาท
ในการบริหารจัดการด้านรายจ่าย รัฐบาลมุ่งเน้นการนำแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักบริหารงบประมาณรายจ่าย โดยยึดหลักของความโปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด และมีประสิทธิภาพ เน้นความสมดุลของการพัฒนาทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การดำเนินนโยบายการคลังที่สอดคล้อง และการ นำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 รัฐบาล จึงได้กำหนดนโยบายงบประมาณ 5 ประการ ประกอบด้วย
ประการแรก ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล ในระดับเพียงพอที่จะรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งควบคุมสัดส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และสัดส่วนภาระหนี้ของประเทศ ตามที่กำหนดไว้ในกรอบการคลังที่ยั่งยืน
ประการที่สอง ให้หน่วยงานทบทวนการดำเนินงานที่ไม่ก่อให้ เกิดผลในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะผลผลิต / โครงการ กิจกรรมต่าง ๆ ที่มีลำดับความสำคัญลดลงหรือหมดความจำเป็น
ประการที่สาม เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อควบคุมอัตราการขยายตัวของ รายจ่ายประจำให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม
ประการที่สี่ สนับสนุนการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เน้นความคุ้มค่าและรองรับการพัฒนาในระยะยาว โดยกำหนดรายจ่ายลงทุนในจำนวนที่ไม่ต่ำกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2550
ประการสุดท้าย ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
ภายใต้กรอบนโยบายงบประมาณดังกล่าว รัฐบาลได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,660,000 ล้านบาท เป็นวงเงินรายจ่ายที่มีการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 165,000 ล้านบาท ซึ่งการจัดทำวงเงินงบประมาณแบบขาดดุลดังกล่าว เป็นการแสดงความตั้งใจของรัฐบาลในการรักษาระดับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และสะท้อนภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบันของรัฐบาลที่มีอยู่จริง โดยยังคงคำนึงถึงการรักษาวินัยทางการคลัง และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
ฐานะและนโยบายการเงิน
ในช่วงปี 2549 มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงช่วงกลางปี เพื่อช่วยชะลออัตราเงินเฟ้อมิให้เร่งตัวสูงขึ้น ตลอดจนป้องกันมิให้เกิดความไม่สมดุลทางการเงิน ทั้งในภาคธนาคาร ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน ต่อมาเมื่อแรงกดดันด้านราคาเริ่มลดลง จึงได้คงอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี และเริ่มผ่อนคลายลงตั้งแต่ปี 2550 เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง รวม 4 ครั้ง รวมร้อยละ 1.5 ต่อปี
สำหรับฐานะทางการเงินของประเทศในปัจจุบันถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศมีจำนวนคิดเป็นกว่า 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น นอกจากนี้ การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ และสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
ท่านประธานที่เคารพ
รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเป็นกรอบในการจัดสรรงบประมาณ ภายใต้นโยบายรัฐบาล วาระสำคัญของรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550 — 2554 โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักธรรมาภิบาล รวมทั้งหลักความโปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด และประสิทธิภาพ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อให้การบริหารจัดการประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันนี้ มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 1,660,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล โดยใช้จ่ายจากรายได้สุทธิที่จะจัดเก็บจำนวน 1,495,000 ล้านบาท เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 165,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็น
- รายจ่ายประจำ จำนวน 1,209,546.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 72.8 ของวงเงินงบประมาณ
- รายจ่ายลงทุนจำนวน 404,677.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.4 ของวงเงินงบประมาณ
- และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 45,775.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 ของวงเงินงบประมาณ
สิ่งสำคัญที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาเร่งด่วน รวมทั้งการ ปรับพื้นฐานการพัฒนาเพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนในระยะยาวต่อไป คือ
ประการแรก สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งภาค เอกชนยังขาดความพร้อมในด้านการบริโภคและการลงทุน ภาครัฐต้องเข้าไปทำหน้าที่ในส่วนนี้อย่างเหมาะสม จึงมีความจำเป็นที่จะจัดทำงบประมาณขาดดุลประมาณร้อยละ 1.8 ของ GDP ซึ่งไม่มีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ประการที่สอง รัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะเร่งรัดการจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยได้เตรียมความพร้อมและตั้งงบประมาณรองรับการดำเนินการไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
ประการที่สาม รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งรัดในการแก้ ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างสมานฉันท์บนพื้นฐานของกฎหมายโดยเร็ว รวมทั้งคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าอย่างเต็มที่
ประการสุดท้าย รัฐบาลได้เน้นการใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะปรับแนวทางการพัฒนาประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันที่ดีใน 3 ภาคส่วนที่สำคัญ คือ
ภาคเศรษฐกิจฐานราก รัฐบาลได้ปรับทิศทางการพัฒนามาเน้นการสร้างขีดความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข โดยกำหนดทิศทางการพัฒนารายได้และคุณภาพชีวิตของตนเอง มีภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน
ภาคอุตสาหกรรม ได้กำหนดแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม โดยจัดให้มีระบบที่เชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ โดยภาคเอกชนกำหนดทิศทางการพัฒนา ในขณะที่ภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนภาคโครงสร้างพื้นฐาน ได้จัดให้มีแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา เพื่อให้มีการเชื่อมโยงระหว่างระบบการเรียนรู้ ระบบการศึกษา ระบบการวิจัยและพัฒนา และระบบการปฏิบัติงานในภาคเอกชน เพื่อสามารถนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรวม 6 ยุทธศาสตร์ กับ 1 รายการ ซึ่งจะได้เรียนให้ทราบถึงเป้าหมายรายละเอียดการดำเนินงานที่สำคัญ และวงเงินงบประมาณในแต่ละกรอบยุทธศาสตร์การจัดสรร ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี มีคุณธรรมนำความรู้ และสามารถปรับตัวสู่สังคมฐานความรู้ จำนวน 563,262 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 33.9 ของวง เงินงบประมาณ โดยมีเป้าหมายให้เกิดความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน สังคม
ในด้านการศึกษา เร่งรัดการปฏิรูปการศึกษาที่ยึดคุณธรรมนำความรู้ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับผู้อยู่ในวัยเรียน 12.7 ล้านคน เปิดโอกาสให้เด็กไทย 1.1 ล้านคน ได้เรียนถึงระดับอุดมศึกษาด้วยระบบกองทุน สนับสนุนการศึกษาแก่เด็กที่มีความสามารถพิเศษทาง การกีฬาประมาณ 17,000 คน พัฒนาศักยภาพ รวมทั้งเน้นด้านคุณธรรม จริยธรรมครูผู้สอน ตลอดจนสนับสนุนค่าตอบแทนวิทยฐานะให้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับทั่วประเทศ
ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน 94,000 คน ได้รับการเสริมสร้างและพัฒนาความรู้ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม จัดให้มีครูพระสอนศีลธรรม 20,000 รูป เพื่อเสริมสร้างศีลธรรมแก่เด็กและเยาวชน ประมาณ 2.3 ล้านคน สนับสนุนการบวชและอบรมจริยธรรมเด็กภาคฤดูร้อน 150,000 คน รวมทั้งจัดศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ 1,700 ศูนย์ สำหรับเด็กและเยาวชน 400,000 คน จัดศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด ประมาณ 1,000 ศูนย์ แก่เด็กและเยาวชน 111,000 คน
ในด้านการอนุรักษ์ และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม รัฐบาลได้สนับสนุนการอนุรักษ์ บำรุง พัฒนาศาสนสถาน และมรดกทางวัฒนธรรม รณรงค์ปลุกจิตสำนึกและสร้างค่านิยมในความเป็นไทย
ด้านสุขภาวะ มุ่งเน้นการให้บริการระบบหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนที่ขึ้นทะเบียนในระบบ 46.5 ล้านคน รวมทั้งจัด บริการสุขภาพแก่ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเอดส์ 132,000 คน เฝ้าระวัง ป้องกันโรคและภัยสุขภาพ เช่น โรคเอดส์ โรคไข้หวัดนก และเร่งรัดแก้ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง
ยกระดับศักยภาพของเด็กและเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่แรกเกิดด้วยโครงการสายใยรักจากแม่สู่ลูก โครงการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน โครงการพัฒนาเด็กสมวัย และส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างสุขภาพและสร้างสังคมที่เข้มแข็งควบคู่ไปกับการพัฒนานักกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬา และสถานกีฬา เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศและความเป็นกีฬาอาชีพ
ในด้านความมั่นคงของชีวิต สนับสนุนประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ เน้นพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นชุมชนน่าอยู่ผ่านโครงการบ้านเอื้ออาทร ประมาณ 85,100 หน่วย และโครงการบ้านมั่นคง 25,000 หน่วย
ดำเนินการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงาน โดยสนับสนุนให้แรงงานในระบบได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานแรงงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 78 ของจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการ
ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการยอมรับในสิทธิการถือครองที่ดินเพื่อโอกาสในการเข้าสู่แหล่งทุน โดยการเตรียมการและเร่งรัดการออกโฉนดที่ดิน 300,000 แปลง
สร้างหลักประกันทางสังคมอย่างทั่วถึง โดยมีเป้าหมายคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ประมาณ 400,000 คน ให้ได้รับการเสริม สร้างโอกาสในการพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมความรู้ พัฒนาอาชีพ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ
เพิ่มโอกาสในการทำงาน ขยายโอกาสในการเข้าถึงหลักประกันทางสังคม พัฒนาศักยภาพและโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม โอกาสใช้ความรู้และประสบการณ์เพื่อทำประโยชน์และสร้างรายได้แก่ผู้สูงอายุ ประมาณ 585,000 คน
2. ยุทธศาสตร์การแก้ไขความยากจน กระจายความเจริญสู่ชนบทและลดช่องว่างของรายได้
จำนวน 59,833.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพของชุมชน โดยพัฒนาองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนรวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข และโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน
พัฒนาองค์ความรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่เกษตรกร โดยใช้ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และศูนย์เรียนรู้ของปราชญ์ชาวบ้านเป็นกลไกหลัก
แก้ไขปัญหาความยากจน โดยจัดสรรที่ดินทำกินแก่ประชาชนยากจนจำนวน 13,600แปลง จัดและพัฒนาที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อให้เกษตรกรได้รับสิทธิจากการปฏิรูป 178,000 ราย สนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลขั้นพื้นฐาน 8.7 ล้านครัวเรือน
สนับสนุนการปฏิบัติงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราช ดำริ และจัดการปฏิบัติการฝนหลวงครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตร 120 ล้านไร่
ชดเชยรายได้ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และชำระหนี้กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร มีเกษตรกรได้รับประโยชน์รวม 923,000 ราย และแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนทั้งในและนอกระบบรวม 8.3 ล้านราย
ส่งเสริมให้เกษตรกรได้จดทะเบียนและจัดตั้งสหกรณ์ 13,600 แห่ง จัดให้มีการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรรวม 13,500 แห่ง
สนับสนุนประชาชนยากจนให้ได้รับโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพไม่ต่ำกว่า 9.4 ล้านคน
สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข และส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านและชุมชน
3. ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
จำนวน 182,875.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของวงเงินงบประมาณ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจส่วนรวม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ โดยการเสริมสร้างประสิทธิภาพแห่งชาติ ยกระดับประสิทธิภาพไปพร้อมกับการพัฒนานวัตกรรม พัฒนาระบบบริหารจัดการด้านแรงงานให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับภาคอุตสาหกรรม ปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการผลิตทั้งกระบวนการผลิต สนับสนุนการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในกระบวนการเพิ่มผลิตภาพ ผลักดันให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการพัฒนาตนเอง รวมทั้งสร้างจิตสำนึก แรงจูงใจ วินัย วัฒนธรรม ให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในด้านการเพิ่มผลิตภาพ
ด้านการพัฒนาระบบเครือข่ายการขนส่ง และระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ เป็นการพัฒนาทั้งเครือข่ายภายในและการเชื่อมโยงไปสู่ต่างประเทศ ส่งเสริมการนำโครงข่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์สูงสุด และกระจายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาคอย่างสมดุลและเป็นธรรม พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีคุณภาพ สะดวกปลอดภัย ลดการใช้พลังงานที่ก่อมลพิษต่อส่วนรวม พัฒนาระบบขนส่งโดยการก่อสร้างขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องทางจราจร ก่อสร้างบูรณะทางหลวงและทางหลวงชนบทประมาณ 2,600 กิโลเมตร บำรุงรักษาทางหลวงและทางชนบท 104,300 กิโลเมตร และดำเนินการแก้ไขจุดอันตรายเพื่ออำนวยความปลอดภัยบนทางหลวง 1,759 แห่ง พัฒนาท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้า และระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ 9 แห่ง รวมทั้งก่อสร้างปรับปรุงและพัฒนาท่าอากาศยาน ตลอดจนก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเส้นทางที่เหมาะสม ตามความจำเป็นเร่งด่วนและความพร้อมในการดำเนินงาน
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา เร่งรัดให้มีการสร้างปัญญาให้สังคม กระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกันในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม และมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคการผลิต โดยจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา 50 แห่ง สนับสนุนการให้ทุนการวิจัยจำนวน 1,069 ทุน พัฒนาหลักสูตรระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ที่มีทักษะในการประดิษฐ์คิดค้น เสริมสร้างความเชื่อมโยงแหล่งผลิตความรู้กับผู้ใช้ความรู้ได้อย่างครบวงจร รวมทั้งจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ
การสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม เสริมสร้างการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลในการใช้ฐานความรู้ ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนา ทุกสาขาในการสร้างองค์ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่ สนับสนุนงานวิจัยที่มีคุณภาพสามารถนำมาใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมนักเรียนทุนไปศึกษาต่อในประเทศและต่างประเทศ เร่งพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างการผลิตและการปรับเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ สามารถต่อยอดภูมิปัญญา และความเป็นไทยที่สอดคล้องกับความต้องการของสาขาการผลิตและบริการที่มีศักยภาพ
การสร้างความมั่นคงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และพัฒนาพลังงานทดแทน ปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงานให้เหมาะสม สนับสนุนการใช้พลังงานอย่างประหยัด สนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จำนวน 200 แห่ง เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วม และมีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรมด้านการอนุรักษ์พลังงาน ไม่น้อยกว่า 12,000 คน จัดให้มีการทำแผนชุมชนที่มีการบูรณาการด้านพลังงานไม่น้อยกว่า 160 ชุมชน ก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และก่อสร้างไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กและระดับหมู่บ้าน
ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ภาคบริการ และการค้า ภาคการเกษตร พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร ปรับปรุงประสิทธิภาพระบบชลประทานในพื้นที่ 24 ล้านไร่ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดินและน้ำเพื่อการเกษตร 18 ล้านไร่ พัฒนาและขยาย พันธุ์สำหรับการผลิตด้านข้าว พืช ปศุสัตว์ และประมงให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เกษตรกรได้รับการส่งเสริม พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้การรับรองแหล่งผลิต ผลผลิต และผลิตภัณฑ์เกษตรที่มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภคตามระบบมาตรฐานต่าง ๆ ภาคอุตสาหกรรมมีเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม เป็นจำนวน 3.2 ล้านล้านบาท และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับการส่งเสริม ถ่ายทอดความรู้ในการจัดตั้งธุรกิจ กระบวนการผลิต การจัดการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์
ภาคการท่องเที่ยวมุ่งเน้นการท่องเที่ยวคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่และฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรม รวมทั้งให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ภาคบริการและการค้ามุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยมีความสมดุลและยั่งยืน ส่งเสริมพัฒนาการค้าและธุรกิจที่มีศักยภาพในประเทศ ดำเนินมาตรการปกป้องและรักษาสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจบริการที่มีความโดดเด่นทางวัฒนธรรมและความเป็นไทย
ด้านการเงิน การคลัง มุ่งเน้นการมีเสถียรภาพและรักษาวินัยทางการเงิน การคลัง พัฒนาสถาบันการเงินและตลาดทุนให้มีความเข้มแข็ง จัดหาแหล่งเงินทุนและจัดสรรทุนที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการบริหารการเงิน การคลังภาครัฐสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการจัดเก็บรายได้และบริหารรายจ่าย (GFMIS) อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็ง โปร่งใส และส่งเสริมธรรมาภิบาลในสถาบันการเงินและตลาดทุน สนับสนุนโอกาสและช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนของธุรกิจต่างๆ พร้อมทั้งสร้างวินัยในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ด้านนโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ดำเนินบทบาทเชิงรุกและสร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ ส่งเสริม รักษาผลประโยชน์ของประเทศ กระชับความร่วมมือทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนากับประเทศต่าง ๆ ทั้งในกรอบภูมิภาค ทวิภาคี และพหุภาคี และความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ใช้การทูตวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประชาคมระหว่างประเทศต่อสถานการณ์ของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการยอมรับ รวมทั้งมุ่งสานต่อการสนับสนุนการดำเนินภารกิจต่างประเทศแบบบูรณาการ การคุ้มครองคนไทย แรงงานไทย และผลประโยชน์ของชาติในต่างประเทศ
4. ยุทธศาสตร์การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
จำนวน 50,744.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.1 ของวงเงินงบประมาณ โดยมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการทรัพยากรน้ำ โดยการบริหารลุ่มน้ำแบบบูรณาการให้ครอบคลุมทั้ง 25 ลุ่มน้ำของประเทศสอดคล้องกับวาระน้ำแห่งชาติ และจัดทำแผนแม่บทการบรรเทาอุทกภัยระยะปานกลางและระยะยาว ซึ่งครอบคลุมการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การป้องกัน ฟื้นฟู พัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำ การผันน้ำ ระบบการระบายน้ำ และการฟื้นฟูแหล่งน้ำ ทางน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ขยายพื้นที่ชลประทานใหม่เพิ่มขึ้น 190,000 ไร่ เพื่อบรรเทาภัยแล้งและใช้พื้นที่การเกษตรเป็นที่รองรับน้ำในการป้องกันน้ำท่วม จัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค บริโภค สำหรับประชาชนในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 120,000 ราย และจัดการบริหารน้ำบาดาล 2,500 แห่ง ตลอดจนก่อสร้างระบบการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนที่เหมาะสม 25 แห่ง ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำและริมทะเล 9 แห่ง รวมทั้งจัดให้มีระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยจากน้ำ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่เสี่ยงภัย 54 หมู่บ้าน
สร้างสมดุลของการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคุ้มครอง ป้องกัน ฟื้นฟู ดูแลป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ 162 ล้านไร่ พื้นที่ป่าชายเลน 2 ล้านไร่ เพิ่มจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการเพาะพันธุ์และปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ 2,000 ล้านตัว ส่งเสริมจูงใจให้เกษตรกรปลูกป่าเศรษฐกิจ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 1,600 ไร่ ตลอดจนอนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากใกล้สูญพันธุ์เพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ตัว คุ้มครองและใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาระดับท้องถิ่นใน 100 ตำบล จัดทำฐานข้อมูลเพื่อการบริหารและจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 106 ล้านไร่ ตลอดจนสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและขยายพันธุ์พืชไทยเพื่อการอนุรักษ์ 115 เรื่อง
ควบคุมมลพิษจากขยะ น้ำเสีย ฝุ่นละออง ก๊าซ กลิ่น สารระเหย และเสียง โดยการป้องกัน ควบคุม และลดมลพิษจากแหล่ง กำเนิดให้อยู่ในระดับมาตรฐาน นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในจังหวัดระยอง ที่เกิดปัญหามลพิษจากแหล่ง กำเนิดอุตสาหกรรม อันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่
ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการจัดตั้งเครือข่ายของประชาชนในการป้องกัน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด การใช้พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรมและบริการ จำนวน 240 เครือข่าย
5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเมืองและการบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม
จำนวน 409,965.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.7 ของวงเงินงบประมาณ โดยมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อ
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ