การประกาศรายชื่อคู่สัญญาและการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นการโอนเสี่ยงด้านเครดิตของสินทรัพย์อ้างอิงทั้งจำนวนสำหรับการทำธุรกรรม Credit Derivatives

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday November 7, 2005 14:58 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                          7 พฤศจิกายน 2548
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร*
ที่ธปท.ฝนส.(21)ว.2123/2548 เรื่อง การประกาศรายชื่อคู่สัญญาและการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นการโอนเสี่ยงด้านเครดิตของสินทรัพย์อ้างอิงทั้งจำนวนสำหรับการทำธุรกรรม Credit Derivatives
1.เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
เพื่อประกาศรายชื่อคู่สัญญาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้ความเห็นชอบในการทำธุรกรรม Credit Derivatives ประเภท Credit Linked Notes(CLN)และCredit Linked Deposits (CLD) ธุรกรรม Credit Derivatives ที่อ้างอิงกลุ่มของสินทรัพย์สำหรับกรณีสินทรัพย์อ้างอิงสกุลเงินบาทเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์เดิมในการอนุญาตธุรกรรม Credit Derivatives ก่อนที่จะมีการออกหนังสือที่ฝกก.(31)ว.3/2548 เรื่อง การขายหลักทรัพย์เงินตราต่างประเทศต่อให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบันภายในประเทศ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 รวมทั้งซักซ้อมความเข้าใจในประเด็นการโอนความเสี่ยงด้านเครดิตของสินทรัพย์อ้างอิงทั้งจำนวน ซึ่งได้ระบุไว้ในวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนและการกำกับลูกหนี้รายใหญ่ สำหรับธุรกรรม Credit Derivatives ประเภท Credit Default Swaps (CDS) และ ธุรกรรม Credit Derivatives 3 ประเภทข้างต้น
2.ประกาศและหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง
2.1 ประกาศ ธปท.เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกรรม Credit Linked Notes หรือ Credit Linked Deposits ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2546 และหนังสือที่ สนส.(21)ว.
140/2546 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2546
2.2 ประกาศ ธปท.เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกรรม Credit Default Swaps ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2546 และหนังสือที่ สนส.(21)ว.143/2546 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2546
2.3 ประกาศ ธปท. เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรม Credit Derivatives ที่อ้างอิงกลุ่มของสินทรัพย์ ลงวันที่ 12 เมษายน 2547 และหนังสือที่ ธปท.สนส.(21)ว.54/2547 ลงวันที่ 26 เมษายน 2547
3.สาระสำคัญ
ธปท.ขอเรียนซักซ้อนความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
3.1 ประกาศรายชื่อคู่สัญญา
เดิมที่ประกาศ ธปท.เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกรรม Credit Linked Notes หรือ Credit Linked Deposits ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2546 ข้อ 4.2.1 และประกาศ ธปท.เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรม Credit Derivatives ที่อ้างอิงกลุ่มของสินทรัพย์ ลงวันที่ 12 เมษายน 2547 ข้อ 4.4.2.1 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ในฐานะผู้ออกหรือขายต่อ CLN/CLD หรือในฐานะผู้ซื้อข้อตกลงรับประกันความเสี่ยง ทำธุรกรรมกับคู่สัญญาได้ 3 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มแรก ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน 13 ประเภทตามรายชื่อที่แนบหนังสือของ ธปท.ที่ส่ง สกง. (05)ว.3/2546 เรื่องการขายหลักทรัพย์เงินตราต่างประเทศต่อให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบันในประเทศ ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม กลุ่มที่สอง ได้แก่ นิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ และกลุ่มที่สาม ได้แก่ คู่สัญญาที่ ธปท.กำหนดเพิ่มเติม
ต่อมา ธปท. ได้ออกหนังสือที่ ฝกก.(31)ว.3/2548 เรื่อง การขายหลักทรัพย์เงินตราต่างประเทศต่อให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบันภายในประเทศ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 แทน หนังสือที่ สกง. (05)ว.3/2546 เรื่องมีผลเป็นการยกเลิกรายชื่อลงทุนสถาบันภาย 13 ประเภทดังกล่าวข้างต้น ธปท.จึงขอออกรายชื่อคู่สัญญาสำหรับการทำธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ในฐานะผู้ออกหรือขายต่อ CLN/CLD หรือในฐานะผู้ซื้อข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นสกุลเงินบาทรวม 13 ประเภทใหม่ซึ่งเหมือนเดิมไว้ท้ายหนังสือนี้
3.2 การโอนความเสี่ยงด้านเครดิตของสินทรัพย์อ้างอิงทั้งจำนวน
3.2.1 ธปท.ขอเรียนว่า "การโอนความเสี่ยงด้านเครดิตของสินทรัพย์อ้างอิงทั้งจำนวน" (Effective Protection) ซึ่งระบุไว้ในข้อ 5.1.1 ของหนังสือเวียนที่ สนส.(21)ว. 143/2546 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกรรม Credit Default Swaps ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2546 นั้น หมายความถึงกรณีข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงที่ไม่มีข้อจำกัดอื่นใดที่ทำให้ผู้ซื้อประกันความเสี่ยงได้รับเงินชดเชยไม่เต็มจำนวนความเสียหายจริงที่เกิดขึ้น หากเกิดความเสียหายขึ้น โดยตัวอย่างของข้อตกลงที่จัดว่าไม่เป็นการโอนความเสี่ยงที่แท้จริงทั้งจำนวนมีดังนี้
3.2.1.1 กรณีที่ข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงด้านเครดิตมีการกำหนดจำนวนเงินที่ผู้ขายข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงจะรับชดเชยเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนไว้ในสัญญาข้อตกลงดังกล่าวจะถือเป็นการรับความเสี่ยงได้เพียงเท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับชดเชยความเสียหายตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเท่านั้น
3.2.1.2 กรณีที่ข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงด้านเครดิตมีการกำหนดความเสียหายขั้นต่ำเป็นเงื่อนไขในการที่ผู้ขายข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงจะรับชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง (Materiality Threshold) จะไม่สามารถถือเป็นการรับประกันความเสี่ยงด้านเครดิตได้โดยให้หารือ ธปท.เป็นรายกรณี
3.2.1.3 กรณี Credit Event ไม่ครอบคลุมความเสี่ยงด้านเครดิตทุกกรณี
3.2.2 สำหรับกรณีที่ผู้ซื้อข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงทำข้อตกลงที่มีการโอนความเสี่ยงด้านเครดิตของสินทรัพย์อ้างอิงทั้งจำนวนตามเกณฑ์ในข้อ 3.2.1 แล้ว แต่ไม่ได้เป็นการซื้อข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงด้านเครดิตทั้งสัญญาหรือเต็มมูลค่าของตราสารหนี้ ตัวอย่างเช่น สัญญาเงินกู้จำนวน 500 ล้านบาท แต่ซื้อข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงไว้เพียง 200 ล้นบาท ซึ่งไม่เข้าข่ายได้รับอนุญาตตามแนวทางการตอบข้อหารือเกี่ยวกับประกาศ ธปท.เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกรรม Credit Linked Notes หรือ Credit Linked Deposits และเรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกรรม Credit Default Swaps นั้น ธปท.อนุโลมให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมในลักษณะดังกล่าวได้หากธนาคารพาณิชย์สามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการโอนสินทรัพย์อ้างอิงในกรณีเกิด Credit Event ที่ไม่ขัดกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อาจกำหนดให้ชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement) ธปท.อนุญาตใหผู้ซื้อข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงได้รับการลดหย่อนหรือผ่อนผันในการดำรงเงินกองทุนและลูกหนี้รายใหญ่ตามจำนวนของข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงที่ซื้อกันนั้น
ทั้งนี้สำหรับกรณีของ Credit Derivatives อ้างอิงกลุ่มของสินทรัพย์ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถซื้อข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงด้านเครดิตเพียงบางส่วนของสัญญาหรือมูลค่าที่ตราไว้ของตราสารหนี้ได้ เนื่องจากข้อกำหนดตามข้อ 4.3 ของประกาศ ธปท. เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรม Credit Derivatives ที่อ้างอิงกลุ่มของสินทรัพย์ อย่างไรก็ดี ธปท.อยู่ระหว่างการปรับปรุงประกาศดังกล่าวเพื่อให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมในลักษณะนี้ได้ด้วยแล้ว
3.2.3 สำหรับกรณีลูกหนี้รายเดียวกันทำสัญญากู้ยืมเงินหลายฉบับนั้น ให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 3.2.1 และ 3.2.2 โดยให้แยกพิจารณาเป็นรายสัญญาได้ โดยในส่วนของสัญญาที่มีการซื้อประกันความเสี่ยง ธปท.อนุญาตให้ผู้ซื้อข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงได้รับการลดหย่อน หรือผ่อนผันในการดำรงเงินกองทุนและลูกหนี้รายใหญ่ตามจำนวนเงินของข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงที่ซื้อ สำหรับสัญญาที่ไม่มีการซื้อประกันความเสี่ยงด้านเครดิตนั้นให้ดำรงเงินกองทุนและลูกหนี้รายใหญ่โดยนับลูกหนี้เช่นเดิม
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติด้วย
ขอแสดงความนับถือ
(นายเกริก วณิกกุล)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
สิ่งที่แนบมาด้วย: รายชื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง
โทร.0-2283-5307,0-2283-6820
หมายเหตุ [
] มีการจัดประชุมชี้แจงในวันที่............ณ.....................
[X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
รายชื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน
1.ธนาคารพาณิชย์
2.บริษัทเงินทุน
3.บริษัทหลักทรัพย์
4.บริษัทแครดิตฟองซิเอร์
5.บริษัทประกันภัย
6.นิติบุคคลที่มีนักกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งมิได้เป็นนิติบุคคลตามข้อ 9.
7.ธนาคารแห่งประเทศไทย
8.สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
9.ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
10.กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
11.กองทุนบำเหน็จบำนาญ
12.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
13.กองทุนรวม (ไม่รวมกองทุนส่วนบุคคล)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ