ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday September 13, 2005 14:02 —ประกาศ ก.ล.ต.

                    ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กธ/น/ข. 35/2548
เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
_________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 มาตรา 15 มาตรา 18 มาตรา 61 และมาตรา 89 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 39 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้ “บุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า
(1) บุคคลซึ่งปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตำแหน่งหรือลักษณะงานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การวิเคราะห์สัญญาซื้อขายล่วงหน้า การชักชวนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การบริหารจัดการธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การบริหารจัดการทรัพย์สินของลูกค้าในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือตำแหน่งหรือลักษณะงานอื่นในทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นตำแหน่งหรือลักษณะงานที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. หรือขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน ก.ล.ต. หรือจะปฏิบัติงานได้ก็ต่อเมื่อไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด และ
(2) บุคคลซึ่งเป็นกรรมการของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นตำแหน่งหรือลักษณะงานที่ผู้ปฏิบัติงานจะปฏิบัติงานได้ก็ต่อเมื่อไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด
“บุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์” หมายความว่า
(1) บุคคลซึ่งปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของบริษัทหลักทรัพย์หรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ในตำแหน่งหรือลักษณะงานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ การวิเคราะห์หลักทรัพย์ การชักชวนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักทรัพย์ การบริหารจัดการธุรกิจหลักทรัพย์ การบริหารจัดการทรัพย์สินของลูกค้าในธุรกิจหลักทรัพย์ หรือตำแหน่งหรือลักษณะงานอื่นในทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นตำแหน่งหรือลักษณะงานที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. หรือขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน ก.ล.ต. หรือจะปฏิบัติงานได้ก็ต่อเมื่อไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด และ
(2) บุคคลซึ่งเป็นกรรมการหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการนิติบุคคลที่ทำหน้าที่ในการรับฝากทรัพย์สินหรือดูแลผลประโยชน์ของลูกค้าในธุรกิจหลักทรัพย์ หรือตำแหน่งหรือลักษณะงานอื่นในทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นตำแหน่งหรือลักษณะงานที่ผู้ปฏิบัติงานจะปฏิบัติงานได้ก็ต่อเมื่อไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด
“สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ย
เงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เว้นแต่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงาน ก.ล.ต. จะมีประกาศเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ 3 บุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(1) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(2) เป็นบุคคลซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเห็นว่าไม่สมควรเป็นผู้บริหารตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(3) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีอาญาโดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต
(4) อยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้เป็นหรือปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน
(5) อยู่ระหว่างระยะเวลาที่กำหนดตามคำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต. ให้พัก เพิกถอน หรือห้ามการปฏิบัติงานในตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดหรือลักษณะงานหนึ่งลักษณะงานใดในการเป็นบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์
(6) อยู่ระหว่างระยะเวลาที่กำหนดตามคำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ถอนรายชื่อจากระบบข้อมูลรายชื่อผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือปฏิเสธการแสดงรายชื่อในระบบข้อมูลรายชื่อผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม
(7) อยู่ระหว่างระยะเวลาที่กำหนดตามคำสั่งขององค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายต่างประเทศให้พัก เพิกถอน หรือห้ามการปฏิบัติงานในตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดหรือลักษณะงานหนึ่งลักษณะงานใด ซึ่งเทียบได้กับการเป็นบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์
(8) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินโดยมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายหรือต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสถาบันการเงินดังกล่าวซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาต ถูกควบคุมกิจการ หรือถูกระงับการดำเนินกิจการเนื่องจากแผนแก้ไขฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานไม่ผ่านความเห็นชอบของหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินนั้น หรือของคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือถูกสั่งการให้แก้ไขฐานะทางการเงินที่เสียหายด้วยการลดทุนและมีการเพิ่มทุนในภายหลังโดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือสถาบันการเงินของรัฐ เว้นแต่จะได้รับยกเว้นจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
(9) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตาม (3) หรือถูกเปรียบเทียบปรับเนื่องจากการกระทำความผิดตาม (3)
(10) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการประพฤติผิดต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานหรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรม ต่อผู้ใช้บริการธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือธุรกิจบริการทางการเงินอื่น หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น
(11) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการขาดจรรยาบรรณหรือมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งกำหนดโดยหน่วยงานหรือสมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น
(12) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางไม่สุจริตหรือฉ้อฉลต่อผู้อื่น หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น
(13) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือการเอาเปรียบผู้ลงทุน หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น
(14) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จในสาระสำคัญหรือปกปิดข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ควรบอกให้แจ้งในเอกสารใด ๆ ที่ต้องเปิดเผยต่อประชาชนหรือต้องยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือต่อองค์กรที่มีอำนาจกำกับดูแลสถาบันการเงิน หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น
(15) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการละเลยการตรวจสอบดูแลตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้นิติบุคคลหรือกิจการที่ตนมีอำนาจในการจัดการ หรือผู้ปฏิบัติงานซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบดูแล (ถ้ามี) กระทำการใดหรืองดเว้นกระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือขัดต่อกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยรวม หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ การดำเนินธุรกิจ หรือลูกค้าของธุรกิจนั้น
ข้อ 4 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคนใดมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3 สำนักงาน ก.ล.ต. จะไม่ให้ความเห็นชอบ หรือไม่ขึ้นทะเบียน หรือห้ามการปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้น เว้นแต่กรณีที่ลักษณะต้องห้ามดังกล่าวเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3(9) (10) (11) (12) (13) (14) หรือ (15) และข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวรับฟังได้ว่า พฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลนั้น มิใช่กรณีร้ายแรงถึงขนาดที่ไม่สมควรให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติงานเป็นบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาแล้วเกินกว่าสิบห้าปีนับถึงวันที่ยื่นคำขอรับความเห็นชอบหรือคำขอขึ้นทะเบียนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. หรือ
นับถึงวันที่เริ่มปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. จะใช้ดุลพินิจไม่ยกเหตุอันเป็นลักษณะต้องห้ามในกรณีนั้นมาเป็นเหตุในการห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติงานเป็นบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก็ได้ ในการนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่ใช้บังคับกับบุคคลดังกล่าวเป็นการชั่วคราวด้วยก็ได้
ข้อ 5 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคนใดมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3 ให้สำนักงาน ก.ล.ต. สั่งพัก เพิกถอน หรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวเป็นระยะเวลาตามที่กำหนด แต่ไม่เกินสิบห้าปีนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. มีคำสั่ง เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3(9) (10) (11) (12) (13) (14) หรือ (15) ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) หากพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาแล้วเกินกว่าสิบห้าปีนับถึงวันที่ข้อเท็จจริงปรากฏต่อสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน ก.ล.ต. จะใช้ดุลพินิจไม่ยกเหตุอันเป็นลักษณะต้องห้ามในกรณีนั้นมาเป็นเหตุในการห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติงานเป็นบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก็ได้ หรือ
(2) หากพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลในกรณีนั้นมิได้มีลักษณะร้ายแรงถึงขนาดที่ไม่สมควรให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติงานเป็นบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดให้บุคคลดังกล่าวยังสามารถปฏิบัติงานเป็นบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่อไปก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะสั่งภาคทัณฑ์บุคคลดังกล่าว หรือกำหนดให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการเรื่องหนึ่งเรื่องใดด้วยก็ได้
ข้อ 6 เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชนหรือเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ให้สำนักงาน ก.ล.ต. หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการแจ้งข่าวข้อมูลเกี่ยวกับการสั่งพัก เพิกถอน หรือภาคทัณฑ์บุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่อสาธารณชน หรือจัดข้อมูลดังกล่าวไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างก็ได้
ข้อ 7 ในการใช้ดุลพินิจสั่งการตามข้อ 4 หรือข้อ 5 ให้สำนักงาน ก.ล.ต. คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลเป็นรายกรณี ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาให้รวมถึง
(1) ขอบเขตของผลกระทบจากพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้าม เช่น กระทบต่อตลาดเงินหรือตลาดทุน กระทบต่อประชาชนโดยรวม หรือกระทบต่อบุคคลเฉพาะราย เป็นต้น
(2) นัยสำคัญของพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้าม เช่น จำนวนเงินที่เกี่ยวข้อง ปริมาณธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
(3) ผู้รับประโยชน์จากผลของพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้าม
(4) ความเกี่ยวข้องของบุคคลต่อพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้าม เช่น เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน เป็นต้น
(5) ความซับซ้อนของลักษณะการกระทำหรือเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำ เช่น การใช้ชื่อบุคคลอื่น หรือการตั้งบริษัทอำพราง เป็นต้น
(6) ประวัติพฤติกรรมในอดีต เช่น เป็นพฤติกรรมครั้งแรก หรือเป็นพฤติกรรมที่เกิดซ้ำหรือต่อเนื่อง เป็นต้น
(7) ความตระหนักของผู้กระทำในเรื่องดังกล่าว เช่น จงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นต้น
(8) ข้อเท็จจริงอื่น เช่น การให้ข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาหรือการดำเนินการ การปิดบังอำพรางหรือการทำลายพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หรือการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นต้น
ข้อ 8 เพื่อให้การใช้ดุลพินิจสั่งการของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามประกาศนี้มีความชัดเจนและผ่านกระบวนการทบทวนตามสมควร เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงใดที่อาจนำไปสู่การสั่งการที่ไม่เป็นคุณต่อบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคนใด ก่อนที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะมีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. ต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่พิจารณาข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ ภายใต้กระบวนพิจารณาของคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงาน ก.ล.ต. ดังกล่าว อย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการแจ้งให้บุคคลที่อาจเป็นผู้รับการสั่งการนั้นได้ทราบข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับข้อสงสัยถึงการมีลักษณะต้องห้ามของบุคคลดังกล่าว และแจ้งสิทธิของบุคคลดังกล่าวในการชี้แจงและนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อสงสัยนั้น
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีข้อเท็จจริงที่แสดงถึงการมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3(1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) หรือ (8) หรือกรณีอื่นใดที่สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่าได้ผ่านกระบวนวิธีพิจารณามาเพียงพอแล้ว
ข้อ 9 ข้อเท็จจริงใดที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นำมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนด
มาตรการทางปกครองตามข้อ 4 หรือข้อ 5 แล้ว สำนักงาน ก.ล.ต. จะนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาสั่งการซ้ำ
อีกไม่ได้ แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงการใช้เป็นปัจจัยประกอบการเพิ่มระดับหรือการกำหนดประเภทของ
มาตรการทางปกครองเพราะเหตุที่บุคคลดังกล่าวมีพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามขึ้นอีก
ข้อ 10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2548
(นายทนง พิทยะ)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ โดยที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นสมควรประกาศ
ข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไว้เป็นข้อกำหนดกลางเพื่อให้เกิดความสอดคล้องในการใช้บังคับและมีหลักพิจารณาบนบรรทัดฐานเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ