การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการให้บริการด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยบริษัทหลักทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday September 13, 2005 12:01 —ประกาศ ก.ล.ต.

                    ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กธ/น/ข. 34/2548
เรื่อง การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการให้บริการ
ด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยบริษัทหลักทรัพย์
___________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 98(3)(4) และ (8) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 45 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 30/2543 เรื่อง การทำธุรกรรมและการให้บริการด้านอนุพันธ์ของบริษัทหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2543
ข้อ 3 ในประกาศนี้
(1) “บริษัทหลักทรัพย์”หมายความว่าบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือการค้าหลักทรัพย์ เว้นแต่กรณีที่กำหนดในข้อ 5 ข้อ 11 และข้อ 12
(2) “สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน
(3) “สถาบันการเงินต่างประเทศ” หมายความว่า นิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งสามารถให้บริการด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ตามกฎหมายของประเทศนั้น
(4) “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งหรือหลายลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) สัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งส่งมอบสินค้าให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชำระราคา ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต เป็นจำนวนและราคาตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
(ข) สัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้รับชำระเงินหรือต้องชำระเงินให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในสัญญากับราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
(ค) สัญญาที่กำหนดให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่จะเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งส่งมอบสินค้าหรือชำระราคาของสินค้า หรือชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในสัญญากับราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าทำสัญญาตาม (ก) หรือ (ข)
(5) “สินค้า” หมายความว่า หลักทรัพย์ ทองคำ น้ำมันดิบ เงินตราสกุลใด ๆ หรือทรัพย์สินอื่นใดที่สำนักงานประกาศกำหนด
(6) “ตัวแปร” หมายความว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงิน อัตราดอกเบี้ย ดัชนีทางการเงินดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ หรือตัวแปรอื่นใดที่สำนักงานประกาศกำหนด
(7) “ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า การเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(8) “ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า ภาระหรือสิทธิของบุคคลหนึ่งบุคคลใดอันเนื่องมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(9) “ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนที่เป็นนิติบุคคลดังต่อไปนี้
(ก) ธนาคารพาณิชย์
(ข) บริษัทเงินทุน
(ค) บริษัทหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของตนเอง หรือเพื่อการบริหารกองทุนส่วนบุคคล หรือเพื่อการจัดการโครงการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(ง) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(จ) บริษัทประกันวินาศภัย
(ฉ) บริษัทประกันชีวิต
(ช) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งมิได้เป็นบุคคลตาม (ญ)
(ซ) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ฌ) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
(ญ) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
(ฎ) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(ฏ) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(ฐ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(ฑ) กองทุนรวม
(ฒ) นิติบุคคลที่มีสินทรัพย์รวมตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่ห้าร้อยล้านบาทขึ้นไป
(ณ) นิติบุคคลที่มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป
(ด) นิติบุคคลซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลตาม (ก) ถึง (ณ) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
(ต) ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนตาม (ก) ถึง (ด) โดยอนุโลม
(10) “ศูนย์ซื้อขายสัญญา” หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งสามารถให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ตามกฎหมายของประเทศนั้นและได้รับการยอมรับจากสำนักงาน (recognized exchange)
(11) “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 4 ให้สถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่นและได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเองได้และไม่ให้นำความในหมวด 1 มาใช้บังคับกับสถาบันการเงินดังกล่าว
หมวด 1
การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ข้อ 5 ให้บริษัทหลักทรัพย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือมูลค่าของสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันที่บริษัทหลักทรัพย์มีอยู่หรือจะมีในอนาคตอันใกล้นอกศูนย์ซื้อขายสัญญากับคู่สัญญาที่เป็นสถาบันการเงินหรือสถาบันการเงินต่างประเทศ หรือในศูนย์ซื้อขายสัญญาได้ บริษัทหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความถึง บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล หรือการจัดการเงินร่วมลงทุน
ข้อ 6 นอกจากกรณีตามข้อ 5 ให้บริษัทหลักทรัพย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเองนอกศูนย์ซื้อขายสัญญากับคู่สัญญาที่เป็นผู้ลงทุนสถาบันหรือในศูนย์ซื้อขายสัญญาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงาน
ข้อ 7 ให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ประสงค์จะขออนุญาตซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามข้อ 6 ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานตามแบบพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามที่สำนักงานประกาศกำหนดบริษัทหลักทรัพย์ที่จะได้รับอนุญาตให้ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) มีบุคลากรที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการบริหารความเสี่ยงจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในจำนวนที่เพียงพอ โดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่องานที่รับผิดชอบ
(2) มีนโยบายและมาตรการในการควบคุมและบริหารความเสี่ยงจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การจัดการด้านการปฏิบัติการ และระบบการตรวจสอบและควบคุมภายในของบริษัทที่มีประสิทธิภาพ และมีระเบียบวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน อย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) การมีระบบรองรับการคำนวณความเพียงพอของเงินกองทุนตามมาตรฐานที่สำนักงานกำหนดหรือมาตรฐานอื่นที่สูงกว่าตามที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ
(ข) การจำกัดฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (position limit) ที่บริษัทจะมีได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่งเมื่อพิจารณาจาก
1. ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยรวม
2. ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าส่วนที่บริษัทไม่มีการป้องกันความเสี่ยง
3. ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่อสินค้าหรือตัวแปรประเภทใดประเภทหนึ่ง
4. ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่อคู่สัญญารายใดรายหนึ่ง
5. ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีผลขาดทุน
(ค) การมีหน่วยงานตรวจสอบภายใน (internal audit) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินกิจการของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(ง) การมีหน่วยงานดูแลการปฏิบัติงาน (compliance unit) ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ และมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของบริษัท
(จ) การมีระบบการบันทึกข้อมูลและการรายงานข้อมูลต่อผู้บริหารตามลำดับชั้นที่มีมาตรฐานและเชื่อถือได้
ข้อ 8 ให้สำนักงานพิจารณาและสั่งการเกี่ยวกับการขออนุญาตซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามข้อ 7 ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วนบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามวรรคหนึ่งต้องดำรงคุณสมบัติตามข้อ 7 ไว้ตลอดเวลาที่บริษัทหลักทรัพย์มีการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ข้อ 9 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเป็นทองคำหรือน้ำมันดิบนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาตามข้อ 6 ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ (perfectly hedge) โดยไม่ชักช้า
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์เข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทที่กำหนดในข้อ 3(4)
(ค) ในฐานะผู้ได้รับสิทธิตามสัญญา
ข้อ 10 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ให้คำแนะนำแก่คู่สัญญาเพื่อการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเองตามหมวดนี้ ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง อันเป็นการหลอกลวงคู่สัญญา หรืออันอาจก่อให้คู่สัญญาสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
หมวด 2
การให้บริการด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ข้อ 11 ให้บริษัทหลักทรัพย์ให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนสถาบันเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือความเหมาะสมในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยกระทำเป็นทางค้าปกติได้บริษัทหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความถึง บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล หรือการจัดการเงินร่วมลงทุน
ข้อ 12 ให้บริษัทหลักทรัพย์ให้บริการเป็นนายหน้าจัดหาคู่สัญญาซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแก่ผู้ลงทุนสถาบันในลักษณะที่เป็นคนกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยไม่มีภาระรับผิดชอบอย่างอื่นโดยกระทำเป็นทางค้าปกติได้
บริษัทหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความถึง บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือการจัดการเงินร่วมลงทุน
ข้อ 13 ให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ประสงค์จะให้บริการด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามข้อ 11 หรือข้อ 12 แจ้งให้สำนักงานทราบถึงลักษณะและขอบเขตของการให้บริการล่วงหน้าอย่างน้อยห้าวัน
ทำการก่อนวันเปิดให้บริการดังกล่าว
ข้อ 14 ให้บริษัทหลักทรัพย์ให้บริการเป็นตัวแทนในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าระหว่างผู้ลงทุนสถาบัน หรือให้บริการเป็นตัวแทนในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญา โดยจะกระทำเป็นทางค้าปกติได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงาน
บริษัทหลักทรัพย์ที่จะได้รับอนุญาตให้บริการเป็นตัวแทนในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) มีระบบป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และระบบป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลภายในระหว่างหน่วยงานและบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีมาตรการในการควบคุมและติดตามให้มีการดำเนินงานตามระบบที่วางไว้
(2) มีนโยบายและมาตรการในการควบคุมและบริหารความเสี่ยง การจัดการด้านการปฏิบัติการ และระบบการควบคุมภายใน ที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีมาตรการในการควบคุมและติดตามให้มีการดำเนินงานตามนโยบาย มาตรการ และระบบที่วางไว้
ให้นำความในข้อ 7 วรรคหนึ่งและข้อ 8 มาใช้บังคับกับการยื่นคำขออนุญาตและการพิจารณาอนุญาตของสำนักงานตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
ข้อ 15 ในการให้บริการด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของบริษัทหลักทรัพย์ตามข้อ 11 และข้อ 14 บริษัทหลักทรัพย์ต้องได้รับใบอนุญาตหรือได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
ข้อ 16 ในการให้บริการด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามหมวดนี้ ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง อันเป็นการหลอกลวงลูกค้า หรืออันอาจก่อให้ลูกค้าสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
หมวด 3
อื่นๆ
ข้อ 17 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานว่าบริษัทหลักทรัพย์ใดซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือให้บริการด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ หรือตามระเบียบวิธีปฏิบัติที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนดขึ้นเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้ หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมประการอื่นในการซื้อขายหรือให้บริการดังกล่าว สำนักงานอาจสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์นั้นแก้ไข กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้ได้
ข้อ 18 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์มีการทำธุรกรรมด้านอนุพันธ์นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกับผู้ลงทุนประเภทที่มีการลงทุนในอนุพันธ์โดยมีมูลค่าที่ใช้อ้างอิง (notional amount) ตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 30/2543 เรื่อง การทำธุรกรรมและการให้บริการด้านอนุพันธ์ของบริษัทหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2543 อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้บริษัทหลักทรัพย์นั้นยังคงมีฐานะอนุพันธ์หรือปฏิบัติตามความผูกพันของอนุพันธ์ได้เพียงเท่าระยะเวลาที่ยังเหลืออยู่ของสัญญาดังกล่าวและห้ามมิให้ทำการขยายระยะเวลาหรือต่ออายุสัญญานั้น ทั้งนี้ ให้ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับกับบริษัทหลักทรัพย์นั้นจนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดลง
ประกาศ ณ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2548
(นายทนง พิทยะ)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามประกาศฉบับเดิมให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 รวมทั้งอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้เพิ่มเติม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ