หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง(ฉบับที่ 5)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday August 22, 2005 10:54 —ประกาศ ก.ล.ต.

                        ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กน. 32/2548
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม
อสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง
(ฉบับที่ 5)
______________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งตามมาตรา 29 ประกอบมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 39 มาตรา 45 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 7/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 54/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2543
“ข้อ 7/1 ให้บริษัทจัดการกำหนดอายุโครงการซึ่งต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (3) ของข้อ 14 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 54/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 19/2546 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2546 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(3) อสังหาริมทรัพย์ที่ก่อสร้างจนเสร็จสิ้นแล้วหรือที่ดิน ที่ซื้อหรือเช่า หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุน ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แล้วแต่กรณี
(ก) เป็นอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เนื่องจากผู้มีสิทธิหรือผู้เป็นเจ้าของอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างนั้นประสบปัญหาทางการเงินอย่างชัดเจน
(ข) ได้จำนองหรือวางเป็นหลักประกันการชำระหนี้ไว้กับสถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตามกฎหมายหรือนโยบายของทางราชการ เช่น บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing loan) ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2547
(ค) เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อสร้างจนเสร็จสิ้นแล้วหรือที่ดิน ที่ซื้อหรือเช่า หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่สถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตามกฎหมายหรือนโยบายของทางราชการ เช่น บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ เป็นต้น ได้มาอันเนื่องมาจากการรับชำระหนี้หรือการบังคับคดีในหนี้ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2547
(ง) เป็นการซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีที่สถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตามกฎหมายหรือนโยบายของทางราชการ เช่น บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ เป็นต้น ขอให้ศาลบังคับคดีหรือบังคับจำนองหรือขอให้ศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลาย ทั้งนี้ อาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประกันหนี้ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2547
(จ) เป็นที่ดินที่ได้มาหรือมีไว้เพื่อประโยชน์ที่จะส่งเสริมให้เกิดรายได้แก่อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างจนเสร็จสิ้นแล้วของกองทุนรวม และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 16 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 54/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 16 การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสิทธิเรียกร้อง ต้องเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้
ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) สิทธิเรียกร้องที่มีสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเป็นเจ้าหนี้ หรือเป็นเจ้าหนี้ร่วมกับสถาบันการเงินต่างประเทศที่มีสาขาในประเทศไทยและดำเนินการโดยสาขาในประเทศไทย ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของมูลหนี้คงค้างรวม และต้องเป็นการรับโอนสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ให้กู้แก่ลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้น
(2) สิทธิเรียกร้องที่มีสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเป็นเจ้าหนี้ร่วมกับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินหรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน โดยมูลหนี้คงค้างในส่วนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินหรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินมีมูลค่าไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลหนี้คงค้างรวม ทั้งนี้ ต้องซื้อสิทธิเรียกร้องในส่วนของสถาบันการเงินดังกล่าวทั้งจำนวนด้วย
(3) สิทธิเรียกร้องที่มีหลักประกันร่วมกันระหว่างสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินหรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน โดยมูลหนี้คงค้างในส่วนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินหรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินมีมูลค่าไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลหนี้คงค้างรวม ทั้งนี้ ต้องซื้อสิทธิเรียกร้องในส่วนของสถาบันการเงินดังกล่าวทั้งจำนวนด้วย หรือ
(4) สิทธิเรียกร้องที่มีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตามกฎหมายหรือนโยบายของทางราชการเป็นเจ้าหนี้ เช่น บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ เป็นต้น”
ข้อ 4 ให้ยกเลิกข้อ 28 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 54/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 19/2546 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ข้อ 5 ในกรณีที่บริษัทจัดการมีความผูกพันในการเช่าอสังหาริมทรัพย์หรือในการจัดหาผลประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะเวลาเกินกว่าสิบปีนับแต่วันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมอยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ บริษัทจัดการอาจขอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้กองทุนรวมดังกล่าวมีอายุโครงการเกินกว่าที่กำหนดในข้อ 7/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 54/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศฉบับนี้ เพื่อให้สามารถเช่าหรือจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวต่อไปตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญาเดิมได้
ข้อ 6 ในกรณีที่กองทุนรวมได้ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิเรียกร้องโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ หากการลงทุนดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 14(3) และข้อ 16 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 54/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศฉบับนี้ บริษัทจัดการจะยังคงไว้ซึ่งการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อไปก็ได้
ข้อ 7 ในกรณีที่กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมกับสำนักงานก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ มีรายละเอียดโครงการจัดการกองทุนรวมขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ ให้บริษัทจัดการยื่นขอความเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมโครงการเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ต่อสำนักงานภายในหกเดือนนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ
ข้อ 8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2548
(นายทนง พิทยะ)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ - เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ออกประกาศให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้องขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้การจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าวเป็นมาตรการประการหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันปัญหาในระบบสถาบันการเงินและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้คลี่คลายลงมากและธุรกิจเหล่านั้นได้ฟื้นตัวขึ้นแล้ว คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้องเพื่อให้การลงทุนของกองทุนรวมประเภทนี้ยังคงรักษาวัตถุประสงค์ดังข้างต้นไว้ อีกทั้งเพื่อให้หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวมดังกล่าวมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ