(ต่อ1) การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday July 17, 2006 09:30 —ประกาศ ก.ล.ต.

               (ข)  พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายต่างประเทศเป็นผู้ออกหรือผู้ค้ำประกัน ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)
(2) ตราสารแห่งหนี้ภาคเอกชน อันได้แก่
(ก) ตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยนิติบุคคลต่างประเทศซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) และได้รับการคัดเลือกให้ใช้ในการคำนวณดัชนีตราสารแห่งหนี้ (benchmark bond index) ที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับตราสารแห่งหนี้ดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วย
(ข) ตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยนิติบุคคลต่างประเทศที่มีอายุตราสารคงเหลือไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลงทุน ซึ่งนิติบุคคลดังกล่าวมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในสองอันดับแรก ทั้งนี้ ผู้ลงทุนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับตราสารแห่งหนี้ดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วย
(3) ตราสารแห่งหนี้อื่น อันได้แก่ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่เป็นกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ หรือของกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนเฉพาะเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นที่สำนักงานกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในส่วนที่ 4 ของหมวดนี้
ส่วนที่ 3
ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน
_______________________
ข้อ 18 ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ได้แก่ หุ้นกู้แปลงสภาพดังต่อไปนี้
(1) หุ้นกู้แปลงสภาพที่เสนอขายในประเทศซึ่งมีลักษณะตามข้อ 15(1) และ (2) ทั้งนี้ ในกรณีที่กองทุนลงทุนในหุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าวในการเสนอขายครั้งแรก หุ้นกู้แปลงสภาพนั้นต้องมีลักษณะ
อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) เป็นหุ้นกู้แปลงสภาพที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) หรือ
(ข) เป็นหุ้นกู้แปลงสภาพที่มีบริษัทจัดการไม่ต่ำกว่าสามรายเป็นผู้ซื้อตราสารดังกล่าวเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนภายใต้การจัดการ
ในกรณีที่หุ้นกู้แปลงสภาพตามวรรคหนึ่งมีการค้ำประกัน การค้ำประกันดังกล่าวต้องเป็นการค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนแบบไม่มีเงื่อนไข
(2) หุ้นกู้แปลงสภาพที่เสนอขายในต่างประเทศโดยมีผู้ออกเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
ข้อ 19 ในกรณีของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือได้มาซึ่งหุ้นกู้แปลงสภาพตามข้อ 18 ได้ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) บริษัทจัดการได้ระบุหลักเกณฑ์ตาม (2) และ (3) ไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม หรือสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี
(2) ในขณะที่ลงทุนหรือได้มา มูลค่าของหุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าวมีมูลค่าสูงกว่าราคาตลาดของหุ้นที่รองรับหุ้นกู้แปลงสภาพนั้น (out of the money)
(3) ในกรณีที่มีการใช้สิทธิแปลงสภาพ ให้บริษัทจัดการขายหุ้นที่ได้รับจากการแปลงสภาพนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้หุ้นดังกล่าวมา
การใช้สิทธิแปลงสภาพตาม (3) หมายความว่า การแปลงสภาพแห่งสิทธิในหุ้นกู้แปลงสภาพเป็นหุ้น ไม่ว่าการแปลงสภาพดังกล่าวจะเกิดจากการใช้สิทธิแปลงสภาพหรือเกิดจากข้อกำหนดบังคับการแปลงสภาพ
ส่วนที่ 4
หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ
_______________________
ข้อ 20 หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่กองทุนจะลงทุนหรือมีไว้ได้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ต้องเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organizations of Securities Commission (IOSCO) หรือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federations of Exchange (WFE)
(2) ต้องเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มีทรัพย์สินที่ลงทุนเป็นประเภทและชนิดเดียวกับทรัพย์สินที่กองทุนอาจลงทุนหรือมีไว้ได้ เว้นแต่เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มีนโยบายการลงทุนในทองคำโดยตรง
(3) ในกรณีที่เป็นการลงทุนหรือมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail fund) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย หน่วยลงทุนที่จะลงทุนหรือมีไว้ได้ ต้องเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปเช่นกัน
(4) ต้องไม่ใช่หน่วยลงทุนของกองทุนรวมประเภทเฮ็ดจ์ฟันด์ (hedge fund)
ส่วนที่ 5
เงินฝากหรือตราสารที่เทียบเท่าเงินสด (near-cash)
_______________________
ข้อ 21 เงินฝากหรือตราสารที่เทียบเท่าเงินสดที่บริษัทจัดการจะลงทุนหรือมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นเงินฝากในสถาบันการเงินตามกฎหมายไทย หรือ
(2) เป็นเงินฝากระยะสั้นในสถาบันการเงิน หรือตราสารที่เทียบเท่าเงินสด (near-cash) ระยะสั้นที่สถาบันการเงินเป็นผู้ออก โดยสถาบันการเงินดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่กองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินต่างประเทศ ทั้งนี้ การมีไว้ซึ่งเงินฝากหรือตราสารดังกล่าวต้องมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกหรือป้องกันปัญหาในการดำเนินงานในต่างประเทศของกองทุน เช่น เพื่อรอการลงทุน หรือเพื่อชำระค่าใช้จ่าย เป็นต้น
ส่วนที่ 6
ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
_______________________
ข้อ 22 การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน บริษัทจัดการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 9(3) โดยอนุโลม
ส่วนที่ 7
ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน
(reverse repurchase agreement)
_______________________
ข้อ 23 การทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ต้องมีคู่สัญญาเป็นผู้ลงทุนตามที่กำหนดในข้อ 24
(2) ต้องเป็นการทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนในหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ตามที่กำหนดในข้อ 25
(3) ต้องใช้สัญญามาตรฐานตามที่กำหนดโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือโดยบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด แล้วแต่กรณี หรือใช้สัญญามาตรฐานตามที่สำนักงานยอมรับ
(4) ต้องมีวัตถุประสงค์เป็นการลงทุนระยะสั้น และไม่มีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนของกองทุน
ข้อ 24 ให้บริษัทจัดการทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนในนามกองทุนได้ เฉพาะกับสถาบันการเงินหรือบุคคลดังต่อไปนี้ที่สามารถประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการได้ตามกฎหมายไทย
(1) ธนาคารพาณิชย์
(2) บริษัทเงินทุน
(3) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(4) บริษัทหลักทรัพย์
(5) บริษัทประกันภัย
(6) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(7) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(8) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(9) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
ข้อ 25 ให้บริษัทจัดการทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนในนามกองทุนได้ เฉพาะในหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ ดังต่อไปนี้
(1) ตราสารแห่งหนี้ที่เป็นตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 14(1)
(2) ตราสารแห่งหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)
(3) หุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีรายชื่ออยู่ในดัชนี SET 50(SET 50 Index) ทั้งนี้ เฉพาะกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุน
ข้อ 26 ในการทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนในนามกองทุน ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ดำรงมูลค่าของหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่ซื้อ ณ สิ้นวัน ไม่น้อยกว่าราคาซื้อ โดยให้ใช้ราคาตลาดในการคำนวณมูลค่าหลัทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้นั้น ทั้งนี้ ในกรณีที่มูลค่าหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ดังกล่าวลดลงกว่าราคาซื้อ บริษัทจัดการต้องดำเนินการให้มีการเพิ่มหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ หรือโอนเงินเพื่อให้มูลค่ารวมไม่น้อยกว่าราคาซื้อภายในวันทำการถัดจากวันที่มูลค่าหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ลดลงตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก) ดำเนินการให้มีการโอนเงิน หรือหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 25 แล้วแต่กรณี ให้แก่กองทุน
(ข) ดำเนินการให้กองทุนมีกรรมสิทธิ์ในเงิน หรือหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่โอนมาตาม (ก) แล้วแต่กรณี
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนส่วนบุคคลที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย
(2) ห้ามมิให้บริษัทจัดการนำหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่ได้มาจากการทำธุรกรรม ดังกล่าวไปขายหรือโอนต่อ เว้นแต่เป็นการขายตามธุรกรรมการขายโดยมีสัญญาซื้อคืน (repurchase agreement) ที่สามารถทำได้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน
(3) ห้ามมิให้บริษัทจัดการเพิ่มวงเงินตามธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนที่ได้ทำไว้กับคู่สัญญา ไม่ว่ามูลค่าของหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ของธุรกรรมดังกล่าวจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือไม่
(4) คำนวณมูลค่าธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน โดยใช้ราคาซื้อหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่ซื้อรวมกับผลประโยชน์ที่พึงได้รับจนถึงวันที่คำนวณมูลค่าธุรกรรมดังกล่าว
ส่วนที่ 8
ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์
_______________________
ข้อ 27 การทำธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ บริษัทจัดการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องเป็นผู้ลงทุนตามที่กำหนดในข้อ 28
(2) หลักทรัพย์ที่ให้ยืมต้องเป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในระบบรับฝากหลักทรัพย์ของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์
(3) ใช้สัญญาที่มีลักษณะและสาระสำคัญของสัญญาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยลักษณะและสาระสำคัญของสัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์
(4) ดำเนินการให้มีการวางหรือเรียกหลักประกันจากผู้ยืมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 29 ข้อ 30 และข้อ 31
ข้อ 28 การทำธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ต้องมีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
ในกรณีที่คู่สัญญาตามวรรคหนึ่งกระทำการในฐานะตัวแทนของผู้ยืม ผู้ยืมต้องเป็นบุคคลดังต่อไปนี้ที่สามารถประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการได้ตามกฎหมายไทย
(1) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
(2) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(3) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(4) ธนาคารเพื่อการนำเข้าและการส่งออกแห่งประเทศไทย
(5) บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(6) ธนาคารพาณิชย์
(7) บริษัทเงินทุน
(8) บริษัทหลักทรัพย์
(9) บริษัทประกันชีวิต
(10) กองทุนส่วนบุคคลที่ไม่ใช่กองทุนส่วนบุคคลรายย่อยและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(11) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(12) นิติบุคคลอื่นตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดประเภทนิติบุคคลในฐานะผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ที่อาจมีข้อตกลงกับผู้ประกอบกิจการในการดำเนินการเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่ให้ยืมหรือหลักประกัน เป็นประการอื่นได้
ข้อ 29 บริษัทจัดการต้องดำเนินการให้มีการวางหรือเรียกหลักประกันดังต่อไปนี้ จากผู้ยืม เพื่อเป็นประกันการให้ยืมหลักทรัพย์
(1) เงินสด
(2) ตราสารแห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝากตามข้อ 13
(3) ตราสารแห่งหนี้ที่เป็นตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 14(1)
(4) ตราสารแห่งหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)
(5) หนังสือค้ำประกันที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออกให้แก่กองทุนเพื่อเป็นประกันการคืนหลักทรัพย์ให้แก่กองทุน โดยธนาคารพาณิชย์นั้นยินยอมรับผิดในฐานะลูกหนี้ชั้นต้น (letter of guarantee)
(6) หุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีรายชื่ออยู่ในดัชนี SET 50 ทั้งนี้ ในกรณีที่กองทุนไม่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุน กองทุนจะรับหลักประกันดังกล่าวไม่ได้
ข้อ 30 ในการวางหรือเรียกหลักประกันจากผู้ยืมตามข้อ 29 บริษัทจัดการต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการให้กองทุนมีกรรมสิทธิ์ในหลักประกันตามข้อ 29(2)(3)(4) หรือ (6) หรือดำเนินการโดยวิธีอื่นซึ่งจะมีผลให้บริษัทจัดการสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากหลักประกันดังกล่าวได้โดยพลัน
(2) ห้ามมิให้บริษัทจัดการนำหลักประกันตามข้อ 29(2)(3)(4) หรือ (6) ที่กองทุนมีกรรมสิทธิ์ไปโอนหรือขายต่อ เว้นแต่เป็นการบังคับชำระหนี้ตามข้อตกลงธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์
(3) ต้องดำเนินการให้มีการดำรงมูลค่าหลักประกัน ณ สิ้นวัน ไม่น้อยกว่าร้อยละหนึ่งร้อย ของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม
ข้อ 31 ในกรณีที่หลักประกันเป็นเงินสด ให้บริษัทจัดการนำเงินสดดังกล่าวไปลงทุนโดยทันทีในทรัพย์สินดังต่อไปนี้
(1) เงินฝากในธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(2) ตราสารแห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝากตามข้อ 13 ทั้งนี้ เฉพาะที่เป็นบัตรเงินฝาก หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน
(3) ตราสารแห่งหนี้ที่เป็นตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 14(1)
(4) ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนตราสารแห่งหนี้ที่เป็นตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 14(1)
ข้อ 32 ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานการทำธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ของกองทุนเป็นรายเดือนโดยระบุรายชื่อคู่สัญญา วัน เดือน ปี ที่ทำธุรกรรม ชื่อ ประเภท และมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม ณ วันทำธุรกรรม อัตราผลตอบแทนต่อปี อายุของสัญญา ชื่อและประเภทของหลักประกัน และจัดเก็บรายงานดังกล่าวไว้ที่บริษัทจัดการเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้
ส่วนที่ 9
สัญญาซื้อขายล่วงหน้า
_______________________
ข้อ 33 การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บริษัทจัดการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กองทุนจะเข้าเป็นคู่สัญญาต้องไม่ทำให้วัตถุประสงค์หรือนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นเบี่ยงเบน และต้องไม่มีลักษณะเป็นการเคลื่อนย้ายความเสี่ยงด้านเครดิต หรือเป็นการเคลื่อนย้ายผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ในเชิงการเงินหรือเศรษฐกิจ (credit derivative)
(2) การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (efficient portfolio management) เว้นแต่ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมตลาดเงินกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการจะเข้าเป็นคู่สัญญาได้เฉพาะเพื่อการลดความเสี่ยง (hedging) เท่านั้น
(3) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กองทุนจะเข้าเป็นคู่สัญญาต้องมีลักษณะและเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 34 ข้อ 35 ข้อ 36 และข้อ 37
(4) ในกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพล่วงหน้าก่อนเข้าเป็นคู่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งนี้ ในการขอความยินยอมดังกล่าว บริษัทต้องอธิบายให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้าใจถึงลักษณะและความเสี่ยงของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าว ตลอดจนแนวทางการบริหารความเสี่ยงก่อนขอรับความยินยอมด้วย
ข้อ 34 สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กองทุนจะเข้าเป็นคู่สัญญาได้ต้องมีสินค้าหรือตัวแปรอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้
(1) หลักทรัพย์หรือดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์
(2) อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน กองทุนจะเข้าเป็นคู่สัญญาในกรณีดังกล่าวได้เฉพาะเพื่อการลดความเสี่ยง (hedging) เท่านั้น
(3) อันดับความน่าเชื่อถือหรือเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของตราสารแห่งหนี้
(4) ทองคำ น้ำมันดิบ หรือดัชนีกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity index) ซึ่งได้ระบุการเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าหรือตัวแปรไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวมแล้ว
(5) สินค้าหรือตัวแปรอื่นใดที่สำนักงานกำหนด
ข้อ 35 ในกรณีที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีตัวแปรเป็นดัชนี ดัชนีดังกล่าวต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เกิดจากการคำนวณโดยใช้สินค้าหรือตัวแปรอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างอันได้แก่ หลักทรัพย์หรือผลตอบแทนของหลักทรัพย์ ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงิน อันดับความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์ที่เป็นตราสารแห่งหนี้ ทองคำ น้ำมันดิบ หรือดัชนีกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์
(2) เป็นดัชนีที่มีการกำหนดวิธีการคำนวณไว้อย่างชัดเจน โดยมีการระบุแหล่งข้อมูลของสินค้า ตัวแปร หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการคำนวณ ทั้งนี้ สินค้า ตัวแปร หรือปัจจัยดังกล่าวต้องมีการเคลื่อนไหวตามสภาวะตลาดอย่างเป็นอิสระด้วย
(3) ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ
(4) เป็นดัชนีที่นิยมแพร่หลายในตลาดการเงินไทยหรือสากล และ
(5) มีการแสดงดัชนีนั้น ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันทำการผ่านสื่อที่มีการเสนอข้อมูลอย่างทันเหตุการณ์
ข้อ 36 การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามข้อ 34 ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) หากวัตถุประสงค์ของการเข้าเป็นคู่สัญญาเพื่อการลดความเสี่ยง (hedging) โดยสินค้าหรือตัวแปรของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวไม่ใช่ตัวเดียวกับทรัพย์สินที่ต้องการลดความเสี่ยง (cross hedge) สัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นต้องมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างผลตอบแทนของสินค้าหรือตัวแปรกับผลตอบแทนของทรัพย์สินที่ต้องการลดความเสี่ยง อยู่ระหว่างอัตราที่สำนักงานกำหนด
(2) ห้ามมิให้บริษัทจัดการเข้าเป็นคู่สัญญาออปชันที่ผูกพันกองทุนในฐานะผู้ให้สัญญา (option writer) เว้นแต่เป็นสัญญาออปชันที่มีข้อผูกพันให้ส่งมอบสินค้าที่กองทุนมีอยู่แล้วอย่างเพียงพอตามข้อผูกพันนั้นในขณะเข้าเป็นคู่สัญญาดังกล่าว
(3) การชำระหนี้ด้วยการส่งมอบสินค้าเมื่อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสิ้นสุดลง สินค้านั้นต้องเป็นทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนหรือมีไว้ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนจะเป็นผู้มีสิทธิรับมอบหรือมีหน้าที่ส่งมอบสินค้านั้นก็ตาม
(4) การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องกระทำในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือในกรณีที่กระทำนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องเป็นธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ข้อ 37 บริษัทจัดการต้องจัดให้มีข้อตกลงในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งได้กระทำนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังต่อไปนี้
(1) ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งคำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้บริษัทจัดการทราบทุกวันที่สิบห้าและวันสุดท้ายของแต่ละเดือน ทั้งนี้ ในกรณีที่วันดังกล่าวเป็นวันหยุดทำการของบริษัท ให้คำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมภายในวันทำการถัดไป
(2) ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อราคาของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งคำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้บริษัทจัดการทราบทันที
(3) คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมให้มีการล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อบริษัทจัดการร้องขอได้
ข้อ 38 เมื่อบริษัทจัดการได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนแล้ว ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่กองทุนเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง (hedging) ให้บริษัทจัดการดำเนินการให้มีการกันหรือแยกทรัพย์สินของกองทุนที่มีคุณภาพซึ่งมีสภาพคล่องในจำนวนที่เพียงพอต่อมูลค่าสุทธิที่กองทุนอาจมีภาระต้องชำระหนี้หรือชำระค่าสินค้าเมื่อสิ้นสุดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (fully covered) ไว้ตลอดเวลาที่ได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญานั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด
(2) ในกรณีที่กองทุนเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาออปชันตามข้อ 36(2) ให้บริษัทจัดการดำเนินการให้มีการดำรงสินค้าตามสัญญาดังกล่าวไว้อยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญานั้น
ข้อ 39 การจัดประเภทสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นตราสารแห่งทุน ตราสารแห่งหนี้ หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ให้พิจารณาจากลักษณะของสินค้าหรือตัวแปรอ้างอิงดังต่อไปนี้
(1) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งมีสินค้าเป็นตราสารแห่งทุน หรือมีตราสารแห่งทุนเป็นองค์ประกอบในการคำนวณตัวแปร ให้ถือเป็นตราสารแห่งทุน
(2) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งมีสินค้าเป็นตราสารแห่งหนี้ หรือมีตราสารแห่งหนี้เป็นองค์ประกอบในการคำนวณตัวแปร หรือมีตัวแปรเป็นอัตราดอกเบี้ย อันดับความน่าเชื่อถือ หรือเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของตราสารแห่งหนี้ ให้ถือเป็นตราสารแห่งหนี้
(3) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งมีสินค้าเป็นตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หรือมีตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนเป็นองค์ประกอบในการคำนวณตัวแปร หรือมีตัวแปรเป็นอัตราดอกเบี้ยหรืออันดับความน่าเชื่อถือของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ให้ถือเป็นตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน
ส่วนที่ 10
ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง
_______________________
ข้อ 40 ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงซึ่งกองทุนจะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานให้ลงทุนหรือมีไว้ได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารดังกล่าวต้องไม่ทำให้การจัดการกองทุนเบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์หรือนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้น และต้องไม่ทำให้กองทุนขาดทุนเป็นมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการลงทุน
(2) ตราสารดังกล่าวมีการจ่ายผลตอบแทนโดยอ้างอิงกับสินค้าหรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในข้อ 34
(3) ในกรณีที่การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารดังกล่าวจะมีผลทำให้กองทุนต้องรับมอบทรัพย์สิน ทรัพย์สินดังกล่าวต้องเป็นประเภทที่กองทุนสามารถลงทุนในหรือมีไว้ได้
การขอความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการยื่นคำขอตามรูปแบบและวิธีการที่สำนักงานกำหนด พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอดังต่อไปนี้
(1) โครงสร้างและรายละเอียดของตราสารดังกล่าว
(2) วัตถุประสงค์ของการลงทุนในตราสารดังกล่าว
(3) วิธีการกำหนดมูลค่ายุติธรรมของตราสารดังกล่าว
(4) การบริหารความเสี่ยง
(5) การเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ลงทุน
(6) การบันทึกบัญชีในงบการเงิน
ข้อ 41 ในกรณีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบให้กองทุนลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงได้ ก่อนการลงทุนในตราสารดังกล่าว บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีข้อตกลงกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งคำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมของตราสารดังกล่าวไปยังสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยทุกวันที่สิบห้าและวันสุดท้ายของแต่ละเดือน ทั้งนี้ ในกรณีที่วันดังกล่าวเป็นวันหยุดทำการของบริษัทจัดการ ให้คำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมภายในวันทำการถัดไป
(ข) ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อราคาของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งคำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมของตราสารดังกล่าวไปยังสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยทันที
(ค) ในกรณีที่ตราสารดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามเปลี่ยนมือ นอกจากข้อตกลงตาม (ก) และ (ข) แล้ว บริษัทจัดการต้องจัดให้มีข้อตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมให้กองทุนไถ่ถอนตราสารดังกล่าวก่อนครบอายุตราสารเมื่อบริษัทจัดการร้องขอได้
(2) เปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ลงทุน ลูกค้า หรือคณะกรรมการกองทุน แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ตราสารดังกล่าวให้สิทธิแก่ผู้ออกในการที่จะชำระหนี้ตามตราสารก่อนครบอายุตราสาร (callable)
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ