การกำหนดมูลค่าต่อหน่วยที่ตราไว้ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หลักเกณฑ์และวิธีการในการคำนวณจำนวนหน่วยและมูลค่าต่อหน่วย

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday July 12, 2001 11:32 —ประกาศ ก.ล.ต.

                    ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 25/2544
เรื่อง การกำหนดมูลค่าต่อหน่วยที่ตราไว้ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการคำนวณจำนวนหน่วยและมูลค่าต่อหน่วย
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการให้บริษัทจัดการดำเนินการในกรณีที่
มูลค่าต่อหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ถูกต้อง
___________________________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 17/1 ข้อ 18/2 และข้อ 18/3 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 16/2544 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"กองทุน" หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530
"จำนวนหน่วย" หมายความว่า จำนวนหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ "มูลค่าต่อหน่วย" หมายความว่า มูลค่าต่อหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งคำนวณโดยนำมูลค่าทรัพย์สินสุทธิหารด้วยจำนวนหน่วยทั้งหมด ณ วันที่คำนวณมูลค่าต่อหน่วยนั้น
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
"วันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date)" หมายความว่า วันคำนวณจำนวนหน่วยเพื่อเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิก ซึ่งเป็นวันที่บริษัทจัดการและกองทุนกำหนดไว้ในสัญญาแต่งตั้งบริษัทจัดการ
"ตลาดหลักทรัพย์" หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
"การชดเชยมูลค่า" หมายความว่า การเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกในกรณีที่มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง หรือการจ่ายเงินซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องกับมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้องแทนการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วย
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 มูลค่าต่อหน่วยที่ตราไว้ต้องมีมูลค่าสิบบาท
ข้อ 3 เมื่อมีการจดทะเบียนกองทุนตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 แล้ว ให้บริษัทจัดการคำนวณจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกครั้งแรกในวันที่มีการส่งเงินสะสมและเงินสมทบครั้งแรกเข้ากองทุนพร้อมทั้งข้อมูลทะเบียนสมาชิกที่ครบถ้วนต่อบริษัทจัดการแล้ว โดยให้ใช้มูลค่าต่อหน่วยที่ตราไว้ตามที่กำหนดในข้อ 2 เป็นมูลค่าในการคำนวณ
ในกรณีที่เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นแล้วในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้บริษัทจัดการคำนวณจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ โดยใช้มูลค่าต่อหน่วยที่ตราไว้ในข้อ 2 เป็นมูลค่าในการคำนวณ
ข้อ 4 การใช้ตัวเลขทศนิยมของจำนวนหน่วยและมูลค่าต่อหน่วย ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) คำนวณจำนวนหน่วยเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมอย่างน้อยสี่ตำแหน่งโดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล และให้ใช้ผลลัพธ์เป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมตามตำแหน่งที่คำนวณได้ดังกล่าว
(2) คำนวณมูลค่าต่อหน่วยเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมอย่างน้อยสี่ตำแหน่งโดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล และให้ใช้ผลลัพธ์เป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมตามตำแหน่งที่คำนวณได้ดังกล่าว
(3) เปิดเผยมูลค่าต่อหน่วยดังนี้(ก) ในกรณีที่บริษัทจัดการคำนวณมูลค่าต่อหน่วยตาม (2) เพียงสี่ตำแหน่ง ให้เปิดเผยมูลค่าต่อหน่วยตามที่คำนวณได้นั้น(ข) ในกรณีที่บริษัทจัดการคำนวณมูลค่าต่อหน่วยตาม (2) มากกว่าสี่ตำแหน่งให้เปิดเผยมูลค่าต่อหน่วยเพียงสี่ตำแหน่ง โดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล
ข้อ 5 ให้บริษัทจัดการจัดให้มีวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) ของแต่ละกองทุนอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งวัน
ข้อ 6 ในกรณีที่มีการเพิ่มหรือลดมูลค่าต่อหน่วย ให้บริษัทจัดการเพิ่มหรือลดมูลค่าต่อหน่วยสำหรับหน่วยแต่ละหน่วยที่มีอยู่แล้ว ณ วันที่คำนวณมูลค่าต่อหน่วย
ข้อ 7 ให้บริษัทจัดการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกในวันถัดจากวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) ที่ใช้เป็นวันคำนวณการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วย เมื่อปรากฏกรณีดังต่อไปนี้
(1) เพิ่มจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกทุกรายที่มีการส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนพร้อมทั้งข้อมูลทะเบียนสมาชิกที่ครบถ้วนต่อบริษัทจัดการแล้ว
(2) ลดจำนวนหน่วยสำหรับสมาชิกรายที่สิ้นสมาชิกภาพและบริษัทจัดการได้รับแจ้งจากคณะกรรมการกองทุนโดยได้รับเอกสารเกี่ยวกับการสิ้นสมาชิกภาพพร้อมข้อมูลทะเบียนสมาชิกที่ครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการเพิ่มจำนวนหน่วยของเงินสะสมและเงินสมทบตาม (1) ให้แก่สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพก่อนการคำนวณการลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกรายดังกล่าว หากมีเงินสะสมและเงินสมทบตาม (1) เข้ามาในช่วงเวลาเดียวกัน และยังมิได้ทำการคำนวณเพื่อเพิ่มจำนวนหน่วยของเงินสะสมและเงินสมทบนั้น
(3) ลดจำนวนหน่วยสำหรับสมาชิกรายที่มีการโอนย้ายออกจากการเป็นสมาชิก โดยบริษัทจัดการของกองทุนผู้โอนได้รับหนังสือแจ้งการโอนย้ายความเป็นสมาชิกจากคณะกรรมการกองทุนพร้อมข้อมูลทะเบียนสมาชิกที่ครบถ้วน
(4) เพิ่มจำนวนหน่วยสำหรับสมาชิกรายที่มีการโอนย้ายเข้าเป็นสมาชิกใหม่ โดยบริษัทจัดการของกองทุนผู้รับโอนได้รับเงินและข้อมูลทะเบียนสมาชิกที่ครบถ้วนจากบริษัทจัดการของกองทุนผู้โอนแล้ว
(5) เพิ่มจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกทุกรายเมื่อเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่ได้ทำการลดจำนวนหน่วยตาม (2) แล้ว แต่สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพไม่มีสิทธิได้รับเงิน และตามข้อบังคับกองทุนกำหนดให้เงินดังกล่าวตกเป็นของกองทุน ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการคำนวณการเพิ่มจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกทุกรายที่มีการส่งเงินสะสมและเงินสมทบตาม (1) ก่อนการคำนวณการเพิ่มจำนวนหน่วยของเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบดังกล่าว หากมีเงินสะสมและเงินสมทบเข้ามาในช่วงเวลาเดียวกัน และยังมิได้ทำการคำนวณเพื่อเพิ่มจำนวนหน่วยของเงินสะสมและเงินสมทบนั้น
(6) เพิ่มจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกทุกรายเมื่อสมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพไม่มารับผลประโยชน์ที่ได้รับภายในเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุนและตามข้อบังคับกองทุนกำหนดให้เงินดังกล่าวตกเป็นของกองทุน หรือเมื่อมีเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้ ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการคำนวณการเพิ่มจำนวนหน่วยของเงินดังกล่าวก่อนการคำนวณการเพิ่มจำนวนหน่วยของเงินสะสมและเงินสมทบตาม (1) หากมีเงินสะสมและเงินสมทบเข้ามาในช่วงเวลาเดียวกัน และยังมิได้ทำการคำนวณเพื่อเพิ่มจำนวนหน่วยของเงินสะสมและเงินสมทบนั้น
ข้อ 8 ให้บริษัทจัดการดำเนินการปรับปรุงรายการเพื่อเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วย(adjustment) ให้แก่สมาชิกทุกรายหรือบางรายแล้วแต่กรณี ในวันถัดจากวันคำนวณจำนวนหน่วย(trade date) เมื่อปรากฏกรณีดังต่อไปนี้
(1) เพิ่มจำนวนหน่วยเมื่อนายจ้างส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเพิ่มเติมในกรณีที่นายจ้างส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบไม่ครบ
(2) ลดจำนวนหน่วยเมื่อบริษัทจัดการพบว่านายจ้างส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนเกินเพื่อคืนเงินให้แก่นายจ้างเท่ากับจำนวนที่นายจ้างส่งเกิน
(3) เพิ่มจำนวนหน่วยเมื่อมีการส่งเงินคืนกองทุนในกรณีที่สมาชิกยกเลิกการลาออกจากกองทุน หรือกรณีที่นายจ้างระบุชื่อสมาชิกที่พ้นสมาชิกภาพผิดราย
ข้อ 9 การคำนวณการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยตามข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ใช้มูลค่าต่อหน่วยดังต่อไปนี้ในการคำนวณ
(1) ให้ใช้มูลค่าต่อหน่วย ณ สิ้นวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) สำหรับสัปดาห์นั้น หากกรณีที่ทำให้ต้องคำนวณการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยเกิดขึ้นก่อนวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date)สำหรับสัปดาห์นั้น
(2) ให้ใช้มูลค่าต่อหน่วย ณ สิ้นวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) สำหรับสัปดาห์ถัดไป หากกรณีที่ทำให้ต้องคำนวณการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยเกิดขึ้นหลังวันคำนวณจำนวนหน่วย(trade date) สำหรับสัปดาห์นั้น
(3) ให้ใช้มูลค่าต่อหน่วย ณ สิ้นวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) หากกรณีที่ทำให้ต้องคำนวณการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยเกิดขึ้นในวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) นั้นเอง
ในกรณีที่บริษัทจัดการจัดให้มีวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) มากกว่าหนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์ มูลค่าต่อหน่วยที่ใช้ในการคำนวณตาม (1) และ (2) ให้ใช้มูลค่าต่อหน่วย ณ สิ้นวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) ที่จะถึงเร็วที่สุด
ข้อ 10 ให้บริษัทจัดการเพิ่มมูลค่าต่อหน่วยอย่างช้าในวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) ที่จะถึงเร็วที่สุด เมื่อปรากฏกรณีดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่มีการจ่ายเงินเพิ่มที่เกิดจากนายจ้างไม่ส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบทั้งหมดหรือบางส่วนเข้ากองทุนภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530
(2) กรณีที่นายจ้างแจ้งความประสงค์ว่าจะไม่รับเงินที่ส่งเข้ากองทุนเกินกลับคืนไป
ข้อ 11 ในกรณีที่มูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องต่างจากมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้องน้อยกว่าหนึ่งสตางค์ หรือต่างจากมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้องตั้งแต่หนึ่งสตางค์ขึ้นไป แต่ไม่ถึงร้อยละ 0.5 ของมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง ให้บริษัทจัดการจัดทำและส่งรายงานให้คณะกรรมการกองทุนทราบถึงความผิดพลาดภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่พบว่ามูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง และจัดให้มีสำเนารายงานดังกล่าวไว้ ณ ที่ทำการของบริษัทจัดการเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้ โดยรายงานดังกล่าวต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) มูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้อง
(2) มูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง
(3) สาเหตุที่ทำให้มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง
(4) มาตรการป้องกันเพื่อมิให้มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ เว้นแต่ในกรณีที่มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้องมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดครั้งสุดท้ายของตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
ในกรณีที่เหตุของความผิดพลาดซึ่งทำให้มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้องตามวรรคหนึ่งมีผลต่อเนื่องต่อการคำนวณมูลค่าต่อหน่วยครั้งต่อไป เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดพลาดเป็นต้น ให้บริษัทจัดการแก้ไขมูลค่าต่อหน่วยให้ถูกต้องตั้งแต่วันที่บริษัทจัดการพบว่ามูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้องด้วย
ข้อ 12 ในกรณีที่มูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องต่างจากมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้องตั้งแต่หนึ่งสตางค์ขึ้นไป และคิดเป็นอัตราตั้งแต่ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง ให้บริษัทจัดการคำนวณมูลค่าต่อหน่วยย้อนหลังนับแต่วันที่พบมูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้องจนถึงวันที่มูลค่าต่อหน่วยถูกต้อง และดำเนินการดังต่อไปนี้ เฉพาะวันที่มูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องต่างจากมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้องตั้งแต่หนึ่งสตางค์ขึ้นไป และคิดเป็นอัตราส่วนตั้งแต่ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง
(1) จัดทำรายงานการแก้ไขมูลค่าย้อนหลังและรายงานการชดเชยมูลค่าให้เสร็จสิ้นภายในวันทำการถัดจากวันที่พบว่ามูลค่าต่อหน่วยนั้นไม่ถูกต้อง และส่งรายงานดังกล่าวให้คณะกรรมการกองทุนภายในวันทำการถัดจากวันที่คำนวณมูลค่าต่อหน่วยเสร็จสิ้น หากคณะกรรมการกองทุนเห็นว่ารายงานดังกล่าวไม่ถูกต้อง คณะกรรมการกองทุนอาจทักท้วงได้ ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(ก) มูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้อง
(ข) มูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง
(ค) สาเหตุที่ทำให้มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง
(ง) การดำเนินการของบริษัทจัดการเมื่อพบว่ามูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการจัดให้มีสำเนารายงานตาม (1) ไว้ ณ ที่ทำการของบริษัทจัดการ เพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้
(2) แก้ไขมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องให้เป็นมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้องภายในวันที่ส่งรายงานตาม (1) ให้แก่คณะกรรมการกองทุน
(3) ชดเชยมูลค่าให้แล้วเสร็จและแจ้งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการกองทุนเพื่อให้คณะกรรมการกองทุนเปิดเผยให้สมาชิกที่ได้เพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยในช่วงระยะเวลาที่มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้องทราบถึงการแก้ไขมูลค่าย้อนหลังตาม (2) และการชดเชยมูลค่า ภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ส่งรายงานตาม (1) ให้แก่คณะกรรมการกองทุน
(4) จัดทำรายงานมาตรการป้องกันเพื่อมิให้มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง และส่งรายงานดังกล่าว พร้อมทั้งสำเนารายงานการแก้ไขมูลค่าย้อนหลังและรายงานการชดเชยมูลค่าที่จัดทำตาม (1) ให้สำนักงานภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ส่งรายงานตาม (1) ให้แก่คณะกรรมการกองทุน เว้นแต่ในกรณีที่มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้องมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ บริษัทจัดการไม่ต้องส่งรายงานมาตรการป้องกันให้สำนักงาน
ข้อ 13 ในการชดเชยมูลค่าตามข้อ 12(3) ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(1) กรณีมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องต่ำกว่ามูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง (understate) ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังนี้
(ก) กรณีที่เป็นการเพิ่มจำนวนหน่วย ให้บริษัทจัดการลดจำนวนหน่วยของสมาชิกเป็นจำนวนซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องกับมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง
หากปรากฏว่าบุคคลที่จะได้รับการชดเชยไม่มีหน่วยเหลืออยู่หรือมีหน่วยเหลืออยู่น้อยกว่าจำนวนหน่วยที่จะต้องลด ให้บริษัทจัดการจ่ายเงินของบริษัทจัดการเองเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของมูลค่าที่ขาดอยู่ หรือลดจำนวนหน่วยที่เหลืออยู่นั้นและจ่ายเงินของบริษัทจัดการเองเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของมูลค่าที่ขาดอยู่ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยมูลค่าให้แก่กองทุน เว้นแต่การที่มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้องมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดครั้งสุดท้ายของตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
(ข) กรณีที่เป็นการลดจำนวนหน่วย ให้บริษัทจัดการเพิ่มจำนวนหน่วยของสมาชิกเป็นจำนวนซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องกับมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง หรือจ่ายเงินของกองทุนเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของมูลค่า เพื่อชดเชยมูลค่าให้แก่สมาชิก แต่หากปรากฏว่าบุคคลที่จะได้รับการชดเชยไม่มีหน่วยเหลืออยู่ ให้บริษัทจัดการจ่ายเงินของกองทุนเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของมูลค่าเพื่อชดเชยมูลค่าให้แก่บุคคลดังกล่าว
(2) กรณีมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องสูงกว่ามูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง (overstate)ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังนี้
(ก) กรณีที่เป็นการเพิ่มจำนวนหน่วย ให้บริษัทจัดการเพิ่มจำนวนหน่วยของสมาชิกเป็นจำนวนซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องกับมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง หรือจ่ายเงินของกองทุนเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของมูลค่า เพื่อชดเชยมูลค่าให้แก่สมาชิก
(ข) กรณีที่เป็นการลดจำนวนหน่วย ให้บริษัทจัดการลดจำนวนหน่วยของสมาชิกเป็นจำนวนซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องกับมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง
หากปรากฏว่าบุคคลที่จะได้รับการชดเชยไม่มีหน่วยเหลืออยู่ หรือมีหน่วยเหลืออยู่น้อยกว่าจำนวนหน่วยที่จะต้องลด ให้บริษัทจัดการจ่ายเงินของบริษัทจัดการเองเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของมูลค่าที่ขาดอยู่ หรือลดจำนวนหน่วยที่เหลืออยู่นั้นและจ่ายเงินของบริษัทจัดการเองเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของมูลค่าที่ขาดอยู่ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยมูลค่าให้แก่กองทุน เว้นแต่การที่มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้องมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดครั้งสุดท้ายของตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
การจ่ายเงินของกองทุนเพื่อชดเชยมูลค่าให้แก่สมาชิกตาม (1) (ข) หรือตาม (2) (ก) บริษัทจัดการอาจจ่ายเงินของบริษัทจัดการเองแทนกองทุนก็ได้
ข้อ 14 ให้บริษัทจัดการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากมูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง เช่น ค่าออกเช็ค ค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเงินชดเชยมูลค่าให้แก่สมาชิก เป็นต้น เว้นแต่ในกรณีที่มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้องมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้
ข้อ 15 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ