นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday July 21, 2006 07:58 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                                  21  กรกฎาคม  2549
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ
กองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท
ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย
นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ที่ น.(ว) 13 /2549 เรื่อง นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ
ด้วยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ สน. 29/2549 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน ลงวันที่ 19 กรกฎาคม2549
เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้าใจที่ตรงกันและถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดได้อย่างถูกต้อง สำนักงานจึงขอซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นในประกาศและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ประกาศที่ยกเลิก จำนวน 5 ฉบับ คือ
(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 44/2541 เรื่อง หลักเกณฑ์การทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541
(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 18/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการลงทุนในหรือมีไว้ ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นเพื่อบริษัทจัดการ ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2542
(3) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 33/2543 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2543
(4) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 49/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นเพื่อบริษัทจัดการ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2543
(5) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 32/2544 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2544
2. การบังคับใช้
กำหนดให้ประกาศฉบับดังกล่าวข้างต้นบังคับใช้กับบริษัทจัดการกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล ทั้งนี้ มิให้ใช้บังคับกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนต่างด้าว จำกัด
3. รายละเอียดของร่างประกาศ
ประกาศฉบับนี้ได้รวบรวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุน (“conflict of interest”) และหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานของบริษัทจัดการที่เป็นการป้องกันการกระทำดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
หมวด 1 การกระทำอันมีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการดำเนินการของบริษัทจัดการในเรื่องที่อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว
1. การกระทำของบริษัทจัดการดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นกระทำที่อาจก่อให้เกิด conflict of interest แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน หรือ ลูกค้า
(1) รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบุคคลใด ๆ เพื่อบริษัทจัดการ เนื่องจากการใช้บริการของบุคคลนั้น (ในเบื้องต้นบุคคลใด ๆ หมายถึง บริษัทนายหน้าหรือตัวกลางในการซื้อขายหลักทรัพย์)
(2) ซื้อขายทรัพย์สินหรือเข้าทำสัญญากับบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเอาเปรียบกองทุนหรือทำให้กองทุนเสียประโยชน์ที่ดีที่สุดไป
(3) ซื้อขายทรัพย์สินหรือเข้าเป็นคู่สัญญาเพื่อพอร์ตบริษัทก่อนกองทุน
2. บริษัทจัดการต้องบริหารจัดการกิจการของตนในเรื่องที่อาจเกี่ยวข้องกับ conflict of interest อันได้แก่ การลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของบริษัทจัดการ (proprietary trading) การทำธุรกรรมของกองทุนกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง (affiliated transaction) การรับผลประโยชน์ตอบแทนเนื่องจากการที่กองทุนใช้บริการบุคคลอื่น (soft commission) และการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของพนักงาน
(staff dealing)
3. บริษัทจัดการต้องจัดให้มีระบบงานที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพในการป้องกันเรื่องข้างต้น โดยแสดงต่อสำนักงานได้ว่ามีมาตรฐานอยู่ในระดับเดียวกับแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระบบงานในการป้องกันการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้ (เนื้อหาโดยละเอียดตามภาคผนวก ก)
(1) บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารระดับสูง
(2) บุคลากรและหน่วยงานย่อยที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของบริษัทจัดการ
(3) มาตรการในการป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และ
(4) การควบคุมและดูแลที่เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นหรืออาจเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการป้องกัน
ส่วนที่ 1 การลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของบริษัทจัดการ บริษัทจัดการต้องปฏิบัติดังนี้
1. การบังคับใช้ในส่วนนี้ บังคับใช้กับบริษัทจัดการกองทุนรวมและบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2543) เท่านั้น
2. จัดให้มีระบบงานกรณีที่บริษัทมีการลงทุนเพื่อพอร์ตบริษัท โดยป้องกันมิให้มีการลงทุนที่ก่อให้เกิด conflict of interest กับกองทุนได้ โดยระบบงานดังกล่าวต้องเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติ ซึ่งมีรายละเอียดตามภาคผนวก ก. และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนเริ่มลงทุนในครั้งแรก หรือกรณีที่มีการลงทุนเพื่อพอร์ตบริษัทก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ขอความเห็นชอบระบบงานก่อนการลงทุนเพิ่มเติม ทั้งนี้ ยกเว้นกรณีที่บริษัทมอบหมายการลงทุนให้บุคคลอื่นเป็นผู้บริหาร แต่ต้องไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจลงทุน
3. เกณฑ์การลงทุนเพื่อพอร์ตบริษัท
3.1 การลงทุนเพื่อพอร์ตบริษัทต้องเป็นการลงทุนในหรือ มีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่เกิน 1 ปี เว้นแต่เป็นการลงทุนดังนี้
(1) เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก
(2) ตราสารที่มีอายุคงเหลือต่ำกว่า 1 ปี และถือจนครบกำหนด และ
(3) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดภายใต้การจัดการของบริษัทกรณีไม่สามารถจำหน่ายทรัพย์สินของกองทุนนั้นได้อย่างเหมาะสม โดยบริษัทต้องจำหน่ายหน่วยลงทุนดังกล่าวในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ และรายงานการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้สำนักงานทราบภายในวันทำการถัดจากวันที่จำหน่ายหน่วยลงทุนนั้นตามแบบรายงานการจำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดภายใต้การจัดการตนที่ลงทุนเพื่อบริษัทจัดการ (แบบรายงาน AMC02: ตัวอย่างแบบรายงานตามภาคผนวก ข.)
อนึ่ง บริษัทจัดการสามารถลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ โดยให้บริษัทจัดการถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กธ/น/ข. 34/2548 เรื่อง การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการให้บริการด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่
13 กันยายน 2548 ด้วย
3.2 กรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรที่ต้องจำหน่ายทรัพย์สินหรือเลิกสัญญาก่อน 1 ปี นับแต่วันลงทุน บริษัทจัดการต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทและรายงานเป็นเอกสารให้สำนักงานทราบภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่จำหน่ายทรัพย์สินตามแบบรายงานการขายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินเพื่อบริษัทจัดการ (แบบรายงาน AMC01: ตัวอย่างแบบรายงานตามภาคผนวก ข.)
3.3 ให้กรณีการมอบหมายการลงทุนให้บุคคลอื่นบริหารจัดการเงินลงทุนของบริษัท ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ในข้อ 3.1 และ 3.2 ข้างต้นด้วย
4. จัดทำรายงานข้อมูลการลงทุนเพื่อพอร์ตบริษัทต่อสำนักงาน ในการจัดส่งแฟ้มข้อความ (TEXT FILE) AMC03.TXT (ตัวอย่างแบบรายงานตามภาคผนวก ข.) ให้ใช้ข้อมูล ณ วันทำการสุดท้ายของเดือน และส่งให้สำนักงานภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
อย่างไรก็ดี เพื่อให้สำนักงานและบริษัทจัดการมีระยะเวลาเพื่อเตรียมการในการจัดส่งแฟ้มข้อความดังกล่าว ให้บริษัทจัดการเริ่มใช้งานจริงตามแนวทางข้างต้นตั้งแต่ข้อมูลของเดือนมกราคม 2550 ที่จะส่งภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป โดยระหว่างนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่เคยส่งรายงานการลงทุนเพื่อบริษัทจัดการ (MPF6000.TXT) ผ่านระบบ IMRS ของสำนักงาน ขอให้ส่งรายงานตามรูปแบบเดิมไปก่อนจนถึงข้อมูลของเดือนธันวาคม 2549 ที่ต้องส่งสำนักงานภายในวันที่ 15 มกราคม 2550 ส่วนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนส่วนบุคคลที่ไม่เคยมีการส่งรายงานการลงทุนเพื่อบริษัทจัดการมาก่อน ยังไม่ต้องจัดส่งแฟ้มข้อความใดๆ ให้สำนักงาน
ทั้งนี้ ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทุกแห่งรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการเตรียมการส่งแฟ้มข้อความ AMC03.TXT ให้สำนักงานทราบเป็นรายเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งสำนักงานจะมีหนังสือแจ้งบริษัทในภายหลัง เพื่อทดสอบการส่งแฟ้มข้อความAMC03.TXT
5. จัดให้มีการเปิดเผยข้อความให้ผู้ถือหน่วยลงทุน หรือลูกค้าทราบว่า บริษัทจัดการอาจลงทุนเพื่อบริษัทในทรัพย์สินเดียวกับกองทุน โดยกรณีกองทุนรวมให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานที่ สน. 17/2548 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2548 และกองทุนส่วนบุคคล ให้เปิดเผยข้อความดังกล่าวในสัญญาจัดการกองทุนส่วนบุคคล นอกจากนี้ ให้บริษัทเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบว่า สามารถขอตรวจสอบข้อมูลการลงทุนเพื่อบริษัทจัดการได้
ส่วนที่ 2 การทำธุรกรรมของกองทุนกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง บริษัทจัดการจะเข้าทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ต้องปฏิบัติดังนี้
1. การบังคับใช้ในส่วนนี้ มิให้บังคับใช้กับกองทุนรวมพิเศษ (กองอสังหาฯ กอง 2 กอง 3 กอง 4)
2. ลักษณะของธุรกรรมเพื่อกองทุนกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
บริษัทจัดการต้องทำธุรกรรมที่เป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อกองทุนในสถานการณ์ขณะนั้น (best execution) มีความจำเป็น และกระทำเสมือนเป็นทางค้าปกติ (at arm’s length transaction) โดยต้องจัดทำหลักฐานเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้ด้วย
อนึ่ง หากเป็นการทำธุรกรรมระหว่างกองทุนภายใต้การจัดการเดียวกัน ธุรกรรมนั้นจะต้องมีความเหมาะสมต่อลักษณะและนโยบายของกองทุนทั้งสอง โดยเป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดที่มีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย
3. ธุรกรรมที่ต้องขอความเห็นชอบจากสำนักงาน ได้แก่ ธุรกรรมระหว่างกองทุนรวมกับบริษัทจัดการในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร โดยต้องขอความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนการเข้าทำธุรกรรม
4. ธุรกรรมที่ต้องขอความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม หรือได้รับความยินยอมจากลูกค้า ได้แก่
4.1 ธุรกรรมระหว่างกองทุนรวมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีที่ไม่มีราคาตลาดหรือมีราคาที่ไม่สอดคล้องกับราคาตลาด โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนการทำธุรกรรมทุกครั้ง โดยรวมถึงธุรกรรมทั้งที่ผ่านตัวกลางและไม่ผ่านตัวกลางด้วย
4.2 ธุรกรรมระหว่างกองทุนส่วนบุคคลกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยอาจกำหนดในสัญญารับจัดการกองทุน ส่วนบุคคล หรือ ก่อนการทำธุรกรรมทุกครั้งก็ได้ และต้องอธิบาย conflict of interest ให้ลูกค้า หรือคณะกรรมการกองทุนฯ เข้าใจก่อนขอรับความยินยอมด้วย
(1) การทำธุรกรรมของ single fund ต้องขอความยินยอมการทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในทุกกรณี
(2) การทำธุรกรรมของ pooled fund และกองทุนส่วนบุคคล ต้อขอความยินยอมในกรณีที่เป็นไปตามข้อ 17(1) ถึง (5) ของประกาศ
ทั้งนี้ หากธุรกรรมข้างต้นไม่มีราคาตลาด หรือมีราคาที่ไม่สอดคล้องกับราคาตลาด ให้บริษัทจัดการอธิบายเหตุผลของการใช้ราคาอื่นที่มิใช่ราคาข้างต้น รวมทั้งที่มาของราคาดังกล่าวให้ ลูกค้าหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบก่อนขอรับความยินยอม โดยรวมกรณีที่กำหนดการขอความยินยอมไว้ก่อนล่วงหน้าในสัญญาจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้ระบุรายละเอียดดังกล่าวไว้ในสัญญาด้วย
4.3 การซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต้องระบุธุรกรรมดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวนว่าอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่จะลงทุนนั้นเป็นของบุคคลดังกล่าว หรือเมื่อได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
5. เปิดเผยข้อมูลการทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยธุรกรรมที่ต้องเปิดเผย มีดังนี้
5.1 กองทุนรวม: ให้เปิดเผยข้อมูลดังต่อไปนี้ ตามแบบรายงานภายนอกต่อผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นรายเดือนผ่านทาง website และรายงาน 6 เดือนและรายงานประจำปีกรณีกองทุนเปิด และรายงานประจำปีกรณีกองทุนปิด นอกจากนี้ ให้จัดทำแบบรายงานภายในเก็บไว้ที่บริษัทจัดการเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ (รายละเอียดการเปิดเผยข้อมูลตามแบบรายงานภายนอกและแบบรายงานภายในตามภาคผนวก ข.)
(1) ธุรกรรมที่ทำโดยตรงกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยรวมการกระทำที่ผ่านบริษัทนายหน้าซึ่งอยู่ในวิสัยที่บริษัทจัดการสามารถทราบว่าเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยหมายรวมถึงกรณี ดังต่อไปนี้
- ซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผู้ออกหรือผู้รับฝากเงินเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้อง
- ซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการเดียวกัน
- การซื้อโดยมีสัญญาขายคืนกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
- การให้ยืมหลักทรัพย์
(2) ธุรกรรมผ่านบริษัทนายหน้าที่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องในตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดรองอื่นๆ
(3) ซื้อหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ผ่านผู้จัดจำหน่ายที่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้อง
(4) ซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน arranger ที่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้อง
(5) การซื้อตราสารแห่งหนี้หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้อง
(6) การซื้อขายหน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่บุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้บริหารจัดการ
อย่างไรก็ดี เพื่อให้สำนักงานและบริษัทจัดการมีระยะเวลาในการจัดเตรียมระบบเพื่อเปิดเผยข้อมูลบน Web Site ของบริษัทเอง ให้บริษัทเริ่มเปิดเผยข้อมูลข้างต้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 เป็นต้นไป โดยระหว่างนี้ ยังคงส่งแบบรายงานการทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องรายเดือนตามแบบ 126(1)-1 และแบบ 126(1)-2 เป็นเอกสารและ Diskette ให้สำนักงานภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป จนถึงข้อมูลของเดือนธันวาคม 2549 ที่ส่งภายในวันที่ 15 มกราคม 2550 โดยให้รายงานความคืบหน้าของการจัดเตรียมความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานทราบเป็นรายเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และเมื่อระบบพร้อมแล้ว ขอให้แจ้งวัน เวลา และ URL ของ Web บริษัทจัดการที่จะเปิดเผยข้อมูล เพื่อสำนักงานจะได้จัดทำ Web สำนักงาน เพื่อเปิดเผยข้อมูลของบริษัททุกแห่งต่อไป
5.2 กองทุนส่วนบุคคล : รายงานการทำธุรกรรมในข้อ 5.1 ข้างต้นต่อลูกค้า หรือคณะกรรมการกองทุนฯ ในระยะเวลาตามที่กำหนดในสัญญาจัดการกองทุนส่วนบุคคล โดยรายงานข้อมูลเกี่ยวกับวันที่ทำธุรกรรม ลักษณะของธุรกรรม มูลค่าของธุรกรรม ราคาต่อหน่วย (ถ้ามี) และอัตราส่วนการลงทุนโดยเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนส่วนบุคคล โดยระบุว่าเป็นธุรกรรมใดในข้อ 5.1 ข้างต้น เว้นแต่ลูกค้าหรือคณะกรรมการกองทุนฯ กำหนดเรื่องการรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นอย่างอื่น
6. บุคคลที่จัดว่าเป็นการทำธุรกรรมกับบุคลที่เกี่ยวข้อง โดยอธิบายแยกตามประเภทกองทุนรวม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนส่วนบุคคล/กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามแผนภาพแสดงบุคคลที่เกี่ยวข้องในภาคผนวก ค.
ส่วนที่ 3 การรับผลประโยชน์ตอบแทนเนื่องจากการที่กองทุนใช้บริการบุคลอื่น บริษัทจัดการต้องปฏิบัติดังนี้
1. หลักเกณฑ์ในการรับผลประโยชน์ตอบแทน
บริษัทจัดการจะรับผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่กองทุนใช้บริการบุคคลอื่นโดยเฉพาะบริษัทนายหน้าได้ โดยผลประโยชน์นั้นต้องเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์โดยตรงต่อกองทุน เช่น บทวิเคราะห์ บทวิจัยต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบการตัดสินใจลงทุนของกองทุน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือซอฟต์แวร์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับบทวิเคราะห์ บทวิจัยดังกล่าว โดยไม่รวมถึงค่าเดินทาง เงินชดเชยต่าง ๆ อุปกรณ์สำนักงาน คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทต้องไม่มีเจตนาในการใช้บริการจากบุคคลดังกล่าวที่บ่อยเกินความจำเป็นเพื่อจุดประสงค์ในการรับผลประโยชน์
อนึ่ง บริษัทต้องจัดสรรการรับผลประโยชน์ตอบแทนด้วยความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงนโยบายการลงทุนของกองทุนเป็นหลัก เช่น โควตาจัดสรรหุ้น IPO เป็นต้น
2. จัดให้มีการเปิดเผยการรับผลประโยชน์ข้างต้นให้ผู้ลงทุนทราบ ซึ่งต้องระบุบุคคลที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่บริษัทจัดการ ผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับ และเหตุผลในการรับผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้ลงทุนทราบ โดย
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ : รายงานทุกสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี
- กองทุนรวมทั่วไป : รายงานรอบระยะเวลา 1 ปี กรณีกองทุนปิด และรายงาน 6 เดือน และรายงาน
ประจำปี กรณีกองทุนเปิด
- กองทุนส่วนบุคคล : แจ้งพร้อมการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนและผลการดำเนินงานของกองทุนส่วนบุคคล
ทั้งนี้ หากการจัดทำรายงาน 6 เดือน และรายงานประจำปีที่มีรอบบัญชีก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2549 และอยู่ระหว่างจัดทำรายงาน ให้บริษัทจัดการไม่ต้องแสดงข้อมูลการรับผลประโยชน์ตอบแทนในรอบบัญชีนั้น
นอกจากนี้ ให้บริษัทจัดการระบุเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการรับผลประโยชน์ตอบแทนในโครงการจัดการกองทุนรวม หรือในสัญญาจัดการกองทุนส่วนบุคคลให้ผู้ถือหน่วยลงทุน ลูกค้า หรือคณะกรรมการกองทุนฯ ทราบ ทั้งนี้ กรณีที่กองทุนใดจัดตั้งกองทุนก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ ให้บริษัทจัดการแก้ไขโครงการโดยระบุเรื่องดังกล่าวแบบ fast track ได้ โดยให้ดำเนินการในโอกาสแรกที่มีการแก้ไขในรายละเอียดอื่นของโครงการของกองทุนรวม หรือสัญญาจัดการกองทุนส่วนบุคคล
ส่วนที่ 4 การลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของพนักงาน บริษัทจัดการต้องปฏิบัติ ดังนี้
1. จัดให้มีระบบงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมดูแลให้พนักงานในบริษัทมีมาตรฐานในการปฏิบัติงานโดยไม่ก่อให้เกิด conflict of interest โดยมีมาตรฐานที่เทียบเท่ากับแนวปฏิบัติงานที่สมาคมกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานในบริษัทจัดการ รวมทั้งกำหนดมาตรการทางวินัยหากพนักงานของตนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว และจัดให้มีการชดใช้ความเสียหายกรณีที่การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามของพนักงานก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน
หมวดที่ 2 บทเฉพาะกาล
1. หากรายละเอียดโครงการของกองทุนรวมหรือสัญญาจัดการกองทุนส่วนบุคคลขัดแย้งกับเนื้อหาข้างต้น ให้บริษัทจัดการดำเนินการแก้ไขโครงการในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ หากเป็นกองทุนรวมเปิด บริษัทจัดการต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการฯ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ
นอกจากนี้ หากเป็นกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนแล้ว แต่ยังมิได้เสนอขายหน่วยลงทุน หรืออยู่ระหว่างเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับและยังมิได้จดทะเบียนเป็นกองทุนรวม โดยมีรายละเอียดโครงการของกองทุนรวมขัดแย้งกับเนื้อหาข้างต้น ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการ ดังนี้
(1) กรณีที่ยังมิได้เสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชน ให้ดำเนินการแก้ไขโครงการฯ
ต่อสำนักงานก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนในครั้งแรก
(2) กรณีที่เสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนเป็น
กองทุนรวม ให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการฯ ต่อสำนักงาน ภายหลังจากที่ได้จดทะเบียนแล้ว โดยต้อง
ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ
2. กรณีที่บริษัทจัดการมีระบบงานที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดข้างต้นก่อนวันที่ใช้บังคับ ให้บริษัทจัดการดำเนินการปรับปรุงระบบงานเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วันนับแต่วันที่ประกาศใช้บังคับ
4. วันที่บังคับใช้ ให้ประกาศนี้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2549 เป็นต้นไป
5. การซักซ้อมความเข้าใจ
เนื่องจากประกาศนี้ได้รวบรวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ conflict of interest ในหลายประเด็น ดังนั้น เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน และสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุนจะจัดซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประกาศใหม่นี้ โดยจะจัดเป็น 2 รอบ รอบละประมาณ 50 คน ซึ่งมีเนื้อหาการซักซ้อมที่เหมือนกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) วันที่ 24 กรกฎาคม 2549 เวลา 9.30 — 11.30 น.
(2) วันที่ 27 กรกฎาคม 2549 เวลา 9.30 — 11.30 น.
จึงขอให้บริษัทจัดการและผู้ดูแลผลประโยชน์ส่งรายชื่อของผู้เข้าร่วมสัมมนาบริษัทละไม่เกิน 2 ท่าน และวันที่จะเข้าร่วมสัมมนา ภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 ได้ที่ คุณสุชีว์กัญญ์ ลิขิตตชัย ผ่านทาง e-mail address : suchekan@sec.or.th หรือ โทรสาร : 0-2695-9746 และหากมีข้อสงสัยประการใด โปรดติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2695-9537
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางดวงมน จึงเสถียรทรัพย์)
ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
เลขาธิการแทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. ประกาศสำนักงานที่ สน. 29/2549 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกอง
ทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2549
2. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระบบงานในการป้องกันการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ตามภาคผนวก ก.
3. ตัวอย่างแบบรายงานต่างๆ ตามภาคผนวก ข.
4. แผนภาพแสดงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตามภาคผนวก ค.
ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
โทร. 0-2695-9537

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ